ทำความรู้จักกับ AllstarLink

Digital Ham Radio
3 min readJul 12, 2021

--

บทความนี้เราจะไปทำความรู้จักกับเครือข่ายวิทยุสมัครเล่นที่ชื่อวา AllstarLink ซึ่งเป็นโครงข่ายวิทยุสื่อสารระบบอนาล็อคที่เชื่อมโยงกันผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตโดยส่งสัญญาณเสียงไปในอินเตอร์เน็ตหรือ VOIP (Voice Over Internet Protocol) ซึ่ง AllstarLink สามารถติดตั้งได้ทั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ Raspberry pi และเชื่อมต่อกับวิทยุสื่อสาร ระบบของ AllstarLink ได้มีการพัฒนามาจากโปรแกรม Asterisk PBX ซึ่งเป็นโปรแกรมฟรีของตู้สาขาระบบโทรศัพท์ เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยที่เราจะเห็นการเชื่อมต่อเครื่องโทรศัพท์ระบบ IP เข้ากับ AllstarLink ได้ สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ AllstarLink ได้ที่ https://www.allstarlink.org

ภาพตัวอย่างหน้าเว็บอย่างเป็นทางการของ AllstarLink

ความสามารถของ AllstarLink

  • ในการใช้งานไม่จำเป็นต้องใช้วิทยุสื่อสารระบบดิจิตอลซึ่งมีราคาแพง
  • สามารถติดตั้งโปรแกรมได้บนคอมพิวเตอร์หรือบน Raspberry pi ได้
  • โหนดของ AllstarLink แต่ละโหนดสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างอิสระ
  • สามารถสั่งเชื่อมต่อหรือยุติการเชื่อมต่อได้ผ่าน DMTF ของเครื่องวิทยุสื่อสาร
  • สามารถเชื่อมต่อไปยัง Echolink, DMR หรือ DSTAR ได้
  • สามารถเชื่อมต่อจากเครื่องโทรศัพท์ระบบอินเตอร์เน็ตได้
  • สามารถใช้ Application Droidstar หรือ DVSwitch บน Smartphone เชื่อมต่อเข้ามายังโหนด AllstarLink ได้
ภาพตัวอย่างหน้า Supermon หรือหน้า Dashboard ของ AllstarLink Node 515410
ภาพตัวอย่างแผนผังการเชื่อมต่อของโหนด ซึ่งสามารถดูได้แบบออนไลน์
ภาพตัวอย่างแผนที่การเชื่อมโยงของโหนดที่มีการเชื่อมเข้าหากัน

ถ้าจะใช้ AllstarLink ต้องมีอะไรบ้าง

  • แน่นอนว่าจะต้องมีการลงทะเบียนเพื่อขอใช้บริการครับ
  • อุปกรณ์เพื่อลงโปรแกรมของ AllstarLink Node เป็น PC หรือ Raspberry pi ก็ได้
ภาพตัวอย่างบอร์ด Raspberry Pi 4 ที่จะนำมาลงโปรแกรม AllstarLink
  • อุปกรณ์ Interface สัญญาณจากวิทยุมาเข้า PC หรือ Raspberry Pi ซึ่งจริง ๆ แล้วมีมากมายหลายรุ่น ทั้งเชื่อมต่อกับ PC และ Raspberry pi แต่ผมจะขอยกตัวอย่าง อุปกรณ์ Interface ที่มีชื่อว่า RIM-Alinco ซึ่งมีราคาไม่สูงมากสามารถเชื่อมต่อกับเครื่องโมบาย Alinco DR-135 (ของแท้ที่มีพอร์ทเชื่อมต่อ) หรือ Yaesu FT-2600
ภาพตัวอย่างอุปกรณ์ Interface สัญญาณที่จะมาต่อกับเครื่องวิทยุสื่อสาร
  • เครื่องวิทยุสื่อสารที่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Interface ได้
ตัวอย่างภาพ Alinco DR-135 ที่มีพอร์ทสื่อสารด้านหลังเครื่อง
  • สัญญาณอินเตอร์เน็ตในการเชื่อมต่อไม่ว่าจะเป็น 3G, 4G หรืออินเตอร์เน็ตบ้าน

ตัวอย่างการนำ AllstarLink ไปใช้ในกิจการวิทยุสมัครเล่น

ผมยกตัวอย่างการติดตั้งใช้งานของ AllstarLink เช่น สถานีวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่ายจังหวัดจันทบุรี (HS2AB) ติดตั้ง Raspberry pi ที่ลงโปรแกรม AllstarLink แล้วโดยเชื่อมเข้ากับชุด Repeater ของสมาคมฯ เพื่อน ๆ ที่เป็น AllstarLink Node ก็สามารถเชื่อมต่อเข้ามายัง AllstarLink ของ HS2AB ได้ผ่านอื่นเตอร์เน็ต ซึ่งทำให้เพื่อน ๆ ที่ใช้ระบบ Analog ผ่าน Repeater HS2AB ก็จะสามารถสื่อสารกับเพื่อน ๆ ที่เป็นสถานี Analog ผ่าน AllstarLink Node ได้ และยังสื่อสารกับเพื่อนที่ใช้ Smartphone ที่เชื่อมต่อโดยตรงมาที่ AllstarLink ของ HS2AB หรือจะผ่าน AllstarLink ของโหนดอื่น ๆ ที่เชื่อมเข้ามาก็ได้ และยังสามารถ Bridge ไปออกระบบ Digital DMR ที่ TG 52024 ของจันทบุรีได้อีกด้วย และนอกจากนี้ถ้าสถานีควบคุมข่ายจังหวัดอื่น ๆ มีการติดตั้ง AllstarLink ไว้ก็สามารถเชื่อมโยงกันและเชื่อมโยง Repeater ถึงกันได้อีกด้วย

ภาพตัวอย่างการเชื่อมต่อ AllstarLink ในรูปแบบต่าง ๆ

ข้อจำกัดของ AllstarLink

เนื่องจาก AllstarLink ทำขึ้นมาเพื่อใช้ในระบบ Analog เพราะฉะนั้นการ Tx จากเครื่องวิทยุสื่อสารจะไม่สามารถระบุตัวตนได้เพราะวิทยุสื่อสารในระบบ Analog ไม่สามารถกำหนดสัญญาณเรียกขานหรือหมายเลขผู้ใช้งานได้ เพราะฉะนั้นการนำ AllstarLink ไปเชื่อมกับระบบดิจิตอลไม่ว่าจะเป็น DMR หรือ DSTAR จึงทำให้ไม่สามารถยืนยันตัวตนของผู้ส่งสัญญาณในขณะนั้นได้ จะทำได้เพียงแค่ยืนยันว่าผู้ส่ง ส่งสัญญาณมาจากสถานี AllstarLink Node ไหนเท่านั้น

หวังว่าบทความนี้คงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการที่จะก้าวไปสู่ AllstarLink สำหรับในบทความต่อไปจะเป็นการลงทะเบียนเพื่อสมัครใช้บริการ AllstarLink ซึ่งมีขั้นตอนไม่ยุ่งยากมากเกินไป สำหรับข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามโดยตรงที่ผม HS2BMI หรือเพิ่มเพื่อนผ่าน LINE ID : aisfttx และสำหรับเพื่อน ๆ ที่สนใจในดิจิตอลโหมดสามารถเข้าร่วมกลุ่ม Line Openchat ของ XLX822 ได้เลยครับ

QR Code Line Openchat ของ XLX822

--

--