รู้จักกับ XLX Multiprotocol และ Transcoding Server

Digital Ham Radio
9 min readOct 13, 2021

หลาย ๆ คนคงได้ยินคำว่า XLX และ Transcoding กันมาบ้างแล้ว ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ XLX Multiprotocol Server และ Transcoding Server กันว่าคืออะไรและมีหลักการทำงานอย่างไร รวมถึงการใช้วิทยุสื่อสารในระบบต่าง ๆ เชื่อมต่อผ่าน Hotspot Pi-Star ไปยัง XLX Multiprotocol Server ด้วยครับว่ามีขั้นตอนอย่างไร

เริ่มต้นกับ XLX Multiprotocol Server

XLX Multiprotocol Server เป็นโปรแกรม Opensource ที่สามารถ Download มาติดตั้งได้ฟรี ซึ่งพัฒนาโดย LX3JL นักวิทยุสมัครเล่นชาว Luxembourg ซึ่งมีสัญญาณเรียกขานประจำประเทศขึ้นต้นด้วย LX ซึ่งน่าจะรวมกับตัว X หมายถึงการข้ามระบบจึงได้ชื่อมาเป็น XLX ส่วนคำว่า Multiprotol หมายความว่า สามารถใช้งานได้หลาย ๆ Protocol พร้อม ๆ กันทั้ง DSTAR, DMR และ YSF ใน Server เดียวกัน ซึ่ง XLX Server นั้นเปรียบได้กับ DSTAR Reflector ของ Icom แต่สำหรับ DSTAR Reflector ของ Icom นั้นจะไม่สามารถใช้งาน DMR และ YSF เชื่อมตรงเข้าไปยัง Reflector ได้ แต่สำหรับ XLX Reflector นั้น เราสามารถใช้ระบบ DSTAR, DMR และ YSF เชื่อมต่อตรงไปยัง XLX Reflector ได้ทันที แต่ทั้งนี้การสนทนาข้ามระบบจาก DSTAR ไปยัง DMR และ YSF นั้นจำเป็นจะต้องมี Transcoding Server มาทำหน้าที่ในการแปลง Digital Voice Code จาก DSTAR ไป DMR หรือจาก DMR ไปยัง DSTAR ถึงจะมีการสนทนาข้ามระบบได้ หาก XLX Reflector ที่ไม่มี Transcoding ติดตั้งอยู่ ผู้ที่อยู่คนละระบบกับผู้ที่กดคีย์ TX จะไดัรับสัญญาณ RX เป็นคีย์ว่างไม่มีเสียงออกมา

ความสามารถของ XLX Multiprotocol

  • สามารถใช้งาน Digital Voice ได้ 3 ระบบ พร้อม ๆ กัน คือ DSTAR, DMR และ YSF และสำหรับผู้ใช้งานที่ใช้ระบบอื่น เช่น NXDN และ P25 ก็ยังสามารถทำ Bridge ระบบจากระบบนั้น ๆ ให้มาออกเป็นระบบ DMR เพื่อใช้งานร่วมใน XLX Server ได้อีกด้วย
  • มีหน้า Dashboard แสดงผู้สนทนาในระบบได้แทบจะตามเวลาในการใช้งานจริง
  • แต่ละ XLX สามารถที่จะทำ Interlink เชื่อมโยงกันระหว่าง XLX ได้ตามโมดูลที่กำหนด หรือจะเชื่อมโยงไปยัง DMR ที่ใช้ระบบของ Brandmeister ก็ได้
  • XLX Multiprotocol สามารถที่จะสนทนาข้ามระบบระหว่าง DSTAR, DMR และ YSF ได้ แต่จะต้องมีการติดตั้ง Transcoding Server ไว้ใช้งาน
  • ในแต่ละ XLX Server สามารถมีห้องหรือโมดูลที่ใช้งานได้ถึง 26 โมดูลตั้งแต่ A-Z เพื่อรองรับการสนทนาที่หลากหลายของเพื่อน ๆ
  • สำคัญที่สุดคือเป็น Opensource เป็นโปรแกรมที่เราสามารถนำมาใช้ได้ฟรี!
ภาพตัวอย่างหน้า Dashboard แสดงรายการสนทนาตามโมดูลต่าง ๆ ของ XLX822

การติดตั้ง XLX Server จะต้องมีอะไรบ้าง?

  • สำหรับถ้าเราจะติดตั้ง XLX Multiprotocol หรือ XLX Server นั้นก่อนอื่นเราจะต้องหาหมายเลขที่ว่างหรือยังไม่มีผู้ใช้งานก่อน ซึ่งหมายเลขดังกล่าวนี้ไม่มีหน่วยงานใดเป็นผู้กำหนด ใครเลือกก่อนก็ได้ก่อน เราสามารถตรวจสอบได้จาก Reflector List ในหน้าเว็บตรวจสอบนี้ก็จะแสดงรายชื่อของ XLX ต่าง ๆ ทั่วโลกและก็จะมีข้อมูลบอกว่าเป็นของประเทศใด
ภาพตัวอย่างรายการ Reflector List ของ XLX Server
  • ต่อไปก็เลือกว่าจะติดตั้งลงบน PC ไว้ที่บ้าน/ที่ทำงานหรือจะติดตั้งอยู่บน Cloud ส่วนมากแล้ว Administrator ผู้ดูแลระบบของ XLX ก็จะเลือกติดตั้งไว้บน Cloud หรือ VPS (Virtual Private Server) เหตุผลเพราะด้วยค่าบริการรายเดือนที่ถูกมากในปัจจุบัน ได้หมายเลข IP เฉพาะเจาะจงเป็นของเราเองไม่มีเปลี่ยนแปลง และความเสถียรของระบบซึ่งสามารถทำงานได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
  • ความรู้พื้นฐานด้านระบบปฏิบัติการ Linux เนื่องจาก XLX Server เป็น Opensource ที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Linux Debian เพราะฉะนั้นผู้ที่จะทำการติดตั้ง XLX Server ควรมีความรู้พื้นฐานในระบบ Linux พอสมควร

ในส่วนของการติดตั้ง XLX ผมจะไม่ได้ทำเป็นบทความนะครับ เพราะจะเน้นให้ความรู้กับผู้ที่เป็น User ได้เข้าใจในระบบของ XLX กันมากขึ้น

การเชื่อมต่อเข้าไปยัง XLX Server ด้วยระบบต่าง ๆ

หลังจากที่เราได้เรียนรู้ระบบของ XLX กันคร่าว ๆ แล้ว ตอนนี้เราก็จะมาเรียนรู้วิธีที่จะเชื่อมจากวิทยุสื่อสารไปยัง XLX Server ผ่านทาง Hotspot Pi-Star กัน หลังจากที่เราได้ทราบหมายเลข XLX ที่เราจะเชื่อมต่อแล้ว ในตัวอย่างนี้จะเป็นการเชื่อมต่อไปยัง XLX822 ข้อควรระวังคือถ้าเป็น XLX Server ที่เกิดขึ้นใหม่ได้ไม่นานในระบบของ Hotspot ของ Pi-Star อาจจะยังไม่มีรายชื่อ XLX อยู่ในระบบให้ทำการ Update ระบบก่อนที่จะทำการเชื่อมต่อ

ภาพตัวอย่างปุ่ม Update จากเมนู Amin ใน Hotspot Pi-Star

วิธีการง่าย ๆ ที่เราจะตรวจสอบว่า XLX ที่เราจะทำงานเชื่อมต่อนั้นมีอยู่ในระบบของ Pi-Star หรือไม่ โดยการเลือกรายการที่จะเชื่อมต่อในหน้า Admin หรือในหน้า Configurator ก็ได้ สำหรับผู้ใช้ในระบบ DMR จะต้องเข้าไปที่โหมด DMR Gateway จึงจะสามารถเลือกดูรายชื่อ XLX ได้

ภาพตัวอย่างรายชื่อ XLX ที่มีอยู่ในระบบของ Hotspot Pi-Star ของเรา สำหรับการตั้งค่าแบบ D-STAR
ภาพตัวอย่างรายชื่อ XLX ที่มีอยู่ในระบบของ Hotspot Pi-Star ของเรา สำหรับการตั้งค่าแบบ DMR Gateway

การเชื่อมต่อไปยัง XLX Reflector ในระบบดิจิตอล D-STAR

สำหรับผู้ใช้งานในระบบ D-STAR ที่จะเชื่อมไปยัง Reflector ไม่ว่าจะเป็น Icom DPlus แท้ ๆ หรือ XLX Reflector ก็ตาม มักจะคุ้นเคยกับคำสั่งในการเชื่อมต่อกันแล้ว เช่น REF822CL ตัวอักษรในหลักต่าง ๆ นั้นมีความหมายดังนี้คือ

  • 3 ตัวแรก ไม่ว่าเราจะระบุเป็น REF, DCS หรือ XLX ก็ตามก็สามารถที่จะสั่งเชื่อมไปยัง XLX Reflector ได้ทั้งสิ้น แต่สำหรับตัวอักษรขึ้นต้น XLX นั้น อาจจะใช้ได้กับบาง Reflector เท่านั้น หากเชื่อมต่อแล้วหลุดต้องเชื่อมใหม่เรื่อย ๆ ก็หมายความว่า Reflector นั้นไม่รองรับการเชื่อมต่อแบบ XLX
  • ตัวอักษร 3 ตัวต่อมาที่เป็นหมายเลข 822 ก็คือหมายเลขของ Server XLX ที่ผู้ทำ Server ได้เลือกใช้ ซึ่งหลัง ๆ มาอาจจะไม่ใช่แค่เพียงตัวเลข เพราะเริ่มมีการเปิดให้ใช้ตัวอักษร 3 ตัวในหลักนี้ด้วยครับ
  • ตัวอักษร 1 หลักต่อมา ตามตัวอย่างเป็นตัว C เป็นการระบุว่าต้องการเชื่อมต่อไปยัง Module C ของ XLX Reflector นี้
  • ตัวอักษร 1 หลักสุดท้าย คือตัว L หมายถึงคำสั่งให้ Link ไปยัง Reflector และ Module ที่เรากำหนดนั่นเอง

สำหรับการสั่ง Link หรือสั่งเชื่อมต่อไปยัง Reflector ต่าง ๆ ด้วยระบบ D-STAR, DMR หรือ YSF นั้นสามารถสั่งได้ 2 ทางคือในหน้า Admin ของ Hotspot Pi-Star และ สั่งจากหน้าเครื่องวิทยุสื่อสารในระบบนั้น ๆ

ภาพตัวอย่างการสั่งเชื่อมต่อไปยัง Reflector 822 ในหน้า Admin ของ Hotspot Pi-Star
ภาพตัวอย่างการใช้คำสั่ง Link ไปยัง Reflector จากเครื่อง Icom ID-51

หลังจากสั่ง Link ไปยัง Reflector ไม่ว่าจะสั่งผ่าน Pi-Star หรือ สั่งผ่านเครื่องวิทยุก็ตามถ้าการเชื่อมต่อสำเร็จก็จะมีสถานะของชื่อ Reflector และ Protocol ที่เราเชื่อมต่อไปอยู่มุมล่างด้านซ้ายของหน้า Admin ของ Pi-Star

ภาพตัวอย่างหลังจากเชื่อมต่อกับ Reflector ได้แล้ว

การเชื่อมต่อไปยัง XLX Reflector ในระบบดิจิตอล DMR

สำหรับในระบบดิจิตอล DMR ถ้าผู้ใช้งานต้องการเชื่อมตรงเข้าไปยัง XLX Reflector นั้นจำเป็นจะต้องเปิดโหมด DMR Gateway ในหน้า Configuration ก่อนตามภาพตัวอย่างด้านล่าง

ภาพตัวอย่างการตั้งค่า DMR Configuration ในโหมด DMR Gateway

จากตัวอย่างการตั้งค่าจะแยกเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรกเป็นส่วนของการระบุ Brandmeister Server ว่าจะใช้ Server ของประเทศไหน ส่วนนี้ใช้สำหรับการสนทนาผ่านทาง Talkgroups บนระบบของ Brandmeister
ส่วนที่สองเป็นส่วนของการระบบ XLX Reflector ในหัวข้อ XLX Master จะเป็นการกำหนดว่าเราต้องการเชื่อมต่อไปยัง XLX Server ไหน และ XLX Startup Module คือการระบุว่าหลังจากเชื่อมต่อได้แล้วจะเชื่อมที่ Module ไหนของ Reflector จากตัวอย่างผมตั้งให้เป็นเชื่อมต่อไปยัง XLX822 Module D และอย่าลืมเปิดการใช้งานกันด้วยนะครับโดยการเลือก XLX Master Enable ให้เป็นเลื่อนไปทางขวา หลังจากนั้นทำการ Apply Changes ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดหรือ Hotspot Pi-Star เชื่อมกับ XLX Server ได้ก็จะมีสถานะขึ้นมาที่มุมล่างด้านซ้ายของหน้า Dashboard

ภาพตัวอย่างหน้า Dashboard ของ Hotspot Pi-Star ที่แสดงสถานะการเชื่อมต่อไปยัง XLX Server

สำหรับการใช้งาน XLX Master นี้จะไม่เกี่ยวข้องกับ Dynamic/Static Talkgroups ของ Brandmeister เลยนะครับ และเราสามารถรับสัญญาณจากทั้งสองแหล่งได้พร้อม ๆ กันอีกด้วย เช่น ถ้าเราตั้งค่า XLX Master ไว้ที่ XLX822 Module C และเราก็ตั้งค่า Dynamic หรือ Static Talkgroups ไว้ที่ TG 52002 ด้ว หากมีสัญญาณเข้ามาไม่ว่าจะทาง XLX822 C หรือ TG 52002 ตัว Hotspot Pi-Star ก็จะส่งสัญญาณนี้ออกไปยังเครื่องวิทยุสื่อสารของเราจากทั้งสองแหล่ง ยกเว้นกรณีสัญญาณมาพร้อมกัน ก็จะขึ้นอยู่กับว่าสัญญาณจากแหล่งไหนเข้ามาก่อน เราก็จะได้ยินสัญญาณจากแหล่งนั้น เพราะระบบไม่สามารถผสมสัญญาณจากทั้งสองแหล่งได้ สำหรับการสนทนาบน Talkgroups ปกติของ Brandmeister ก็ใช้ TGs ตามใช้งานเลยครับ แต่สำหรับการที่จะ TX ไปออกยัง XLX Master นั้น Brandmeister กำหนดให้ใช้ Talkgroup หมายเลข 6 หรือที่เราคุ้นเคยกันในคำย่อว่า TG 6 นะครับ ตามตัวอย่างภาพด้านล่าง

ภาพตัวอย่างการ TX ที่ TG 6 เพื่อให้ออกไปยัง XLX Master

จากภาพตัวอย่างผมตั้งช่องชื่อ DMR Gateway และใช้ความถี่ตรงกับ Hotspot ใช้ Talkgroup หมายเลข 6 เวลากด TX ก็จะแสดงหมายเลข 6 ตามเลข TG ส่วนคำว่า XLX Master เป็นชื่อ TG ที่ผมตั้งนะครับ ไม่ใช่ข้อความจากระบบ เพียงเท่านี้สัญญาณที่เรา TX ก็จะไปออกยัง XLX822 Module C ตามการตั้งค่าใน Hotspot แล้ว

การสั่งเปลี่ยนการเชื่อมต่อ XLX Master ผ่านเครื่องวิทยุสื่อสาร

สำหรับการสั่งงานจากการกดคีย์หน้าเครื่องเพื่อนให้ Hotspot Pi-Star ของเราย้ายการเชื่อมต่อไปยัง XLX อื่นหรือ Module อื่นนั้น ให้เราสร้าง TG จากหน้าเครื่องขึ้นมาที่เป็นลักษณะของ Private Call นะครับ โดย Private Call นี้จะเป็นเหมือนคำสั่งที่ส่งไปยัง Hotspot ไม่ได้เป็น Talkgroup ที่ใช้สนทนาโดยมีหลักการดังนี้

  • การย้าย Module ภายใน XLX เดียวกันสามารถทำได้โดยการใช้ Private Call ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 64 แล้วตามด้วยเลข 3 หลักเรียงตามลำดับที่ของ Module เช่น Module A = 001, Module B = 002….Module Z = 026
    ถ้าต้องการเชื่อมไปยัง Module A ใช้ Private Call = 64001
    ถ้าต้องการเชื่อมไปยัง Module L ใช้ Private Call = 64012
    ถ้าต้องการเชื่อมไปยัง Module Z ใช้ Private Call = 64026
    ทั้งนี้การสั่งเชื่อมต่อจะต้องเลือก TGs ที่กำหนดและทำการ TX 1 ครั้งเพื่อเป็นการสั่งเชื่อมต่อ
    ข้อควรระวังในการ TX ถ้ากดคีย์ TX สั้นไประบบของ Hotspot อาจจะไม่รับคำสั่ง เพราะฉะนั้นควรกดคีย์ยาวอย่างน้อย 1 วินาที และอย่าลืมว่า Talkgroup ที่ตั้งนี้ต้องเป็นแบบ Private Call ไม่ใช่ Group Call
ภาพตัวอย่างการตั้งช่องโดยระบุ TG เป็น Private Call 64012 เพื่อเชื่อมต่อไปยัง Module L
  • การย้ายไปยัง XLX หมายเลขอื่น ๆ สามารถทำได้โดยการใช้ Private Call ที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 68 แล้วตามด้วยเลข 3 หลักของ XLX เช่น ถ้าต้องการย้ายการเชื่อมต่อไปยัง XLX823 ก็กำหนด Private Call = 68823 แล้วทำการ TX 1 ครั้งเพื่อสั่งเชื่อมต่อไปยัง XLX ตามหมายเลขที่กำหด
    ข้อควรระวังในการ TX ถ้ากดคีย์ TX สั้นไประบบของ Hotspot อาจจะไม่รับคำสั่ง เพราะฉะนั้นควรกดคีย์ยาวอย่างน้อย 1 วินาที และอย่าลืมว่า Talkgroup ที่ตั้งนี้ต้องเป็นแบบ Private Call ไม่ใช่ Group Call
ภาพตัวอย่างการตั้งช่องโดยระบุ TG เป็น Private Call 68823 เพื่อเชื่อมไปยัง XLX823

สำหรับการสั่งย้ายการเชื่อมต่อไปยัง XLX อื่นนั้น จะเริ่มเชื่อมไปยัง Module ที่กำหนดไว้ใน XLX Startup Module ในหน้า Configuration นะครับ เช่น จากตัวอย่างกำหนดให้เชื่อมไป XLX823 และเราระบุไว้เป็น XLX Starup Module เป็น D ก็จะเชื่อมไปยัง XLX823 Module D ก่อน หลังจากนั้นให้ใช้คำสั่ง Private Call เพื่อย้าย Module ตามที่เราต้องการอีกครั้งครับ

สำหรับการตั้ง TG แบบ Private Call นั้นเราสามารถตั้งค่าหน้าเครื่องได้จากเมนูของเครื่อง Expert ได้เลย โดยเข้าที่ Menu -> Talk Group -> New Contact -> ระบุหมายเลข TG -> ระบุชื่อ TG -> Save เพื่อบันทึกการตั้งค่า

การเชื่อมต่อ XLX Reflector ในระบบดิจิตอล YSF

สำหรับการเชื่อมต่อ Hotspot Pi-Star ของระบบ YSF ของค่าย Yaesu นั้น เราจะต้องทราบข้อมูลก่อนว่าหมายเลข YSF Reflector ที่ทำงานในโหมดของ XLX Reflector หรือ YSF Reflector เนื่องจากในบทความนี้เราจะเน้นไปที่การชื่อมต่อระบบ YSF บน XLX Reflector ความแตกต่างของ YSF Reflector กับ YSF บน XLX Reflector คือ ถ้าเป็น YSF ที่เป็น YSF Reflector นั้นจะไม่สามารถสั่งย้าย Module ได้เพราะในตัวโปรแกรมของ YSF Reflector นั้นไม่มีการสนทนาแบบแยก Module แต่สำหรับ YSF ที่เป็น XLX Reflector นั้นเราสามารถเลือกที่จะสนทนาบน Module ต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ A-Z รวมทั้งสิ้น 26 Module หรือ 26 ห้องสนทนา
ในระบบ YSF นั้นจะใช้หมายเลข 5 หลักแทนตัวเลขของ Reflector ต่าง ๆ เช่นถ้าเป็น YSF ของ XLX822 ที่อยู่บน XLX Reflector มีหมายเลขเป็น #39684 ซึ่งในระบบ YSF จะใช้เครื่องหมาย # นำหน้าบ่งบอกถึงความเป็น TG หรือเป็น Server และอีกตัวอย่าง YSF หมายเลข #04613 จะเป็น YSF ที่เป็น YSF Reflector ที่เชื่อมต่อไปยัง AllStar Link Node 55087 ซึ่ง #04613 เป็น YSF Reflector ไม่มี Module ให้ย้ายและ #39684 เป็น XLX Reflector ที่สามารถสั่งย้าย Module ได้อีก

ภาพตัวอย่าง YSF Reflector List จากหน้าเว็บ pistar.uk

การสั่งเชื่อมต่อไปยัง XLX Reflector ในระบบดิจิตอล YSF

สำหรับการตั้งค่า Hotspot Pi-Star เพื่อเชื่อมไปยัง XLX Reflector นั้นก็มีวิธีการไม่กี่ขั้นตอนคือการเลือกโหมดของ YSF และเข้าไปกำหนดหมายเลข YSF ที่ต้องการเชื่อมต่อไป เช่น ถ้าจะเชื่อมต่อไปยังระบบ YSF ของ XLX822 ก็เลือก YSF Startup Host ให้เป็นของ YSF39863 ของ XLX822 อีกหนึ่งอย่างสำหรับการเชื่อมต่อระบบ YSF ไปยัง XLX Reflector นั้นให้ทำการเปิดโหมด WiresX Passthrough ด้วย แล้วให้ทำการ Apply Changes เพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลงเพียงเท่านี้เราก็สามารถใช้ตัวเครื่องวิทยุสื่อสารเชื่อมต่อผ่าน Hotspot Pi-Star ไปยังระบบ YSF ของ XLX822 ได้แล้ว

ภาพตัวอย่างการตั้งค่าเพื่อเชื่อมต่อระบบ YSF ไปยัง XLX Reflector ในโหมดของ Wires-X
ภาพตัวอย่างหน้า Dashboard หลังจากเชื่อมต่อในระบบ YSF ไปยัง XLX Reflector หมายเลข 822

การเชื่อมต่อ XLX Reflector โดยเครื่องวิทยุสื่อสารระบบ YSF

สำหรับการเชื่อมต่อโดยสั่งจาก Hotspot Pi-Star นั้นตัวเครื่องวิทยุสื่อสารระบบ YSF ไม่จำเป็นจะต้องตั้งค่าอะไรมากเพียงแต่ให้ความถี่ตรงและโหมดให้เป็น Digital แต่สำหรับการเชื่อมต่อโดยสั่งการจากวิทยุสื่อสารในระบบ YSF นั้น เราจะเป็นจะต้องให้วิทยุสื่อสารเข้าสู่ระบบสื่อสารดิจิตตอล Wires-X ของ ค่าย Yaesu ก่อน ตัวอย่างนี้ผมจะใช้เครื่องวิทยุสื่อสาร Yaesu รุ่น FT-70D ซึ่งเป็นวิทยุสื่อสารในระบบดิจิตอล YSF รุ่นแรก ๆ มีฟังก์ชั่นใช้งานไม่มากนักแต่ก็สามารถสั่งเชื่อมต่อไปยัง XLX Reflector ได้ วิธีการง่าย ๆ โดยเริ่มตั้งความถี่ให้ตรงกับ Hotspot และเริ่มเข้าสู่โหมด Wires-X โดยกดปุ่ม F แล้วตามด้วยปุ่ม AMS ตัวเครื่องวิทยุสื่อสารจะส่งสัญญาณเข้า Hotspot Pi-Star เพื่อร้องขอและดึงข้อมูลของระบบ

ภาพตัวอย่างปุ่มด้านหน้าของ Yaesu FT-70D
คลิปวิดีโอตัวอย่างการสั่งเชื่อมต่อเข้า XLX822 ด้วยโหมด Wires-X ของ Yaesu FT-70D

หลังจากเชื่อมต่อได้แล้วจะมีเสียงตอบรับว่าเชื่อมต่อได้สำเร็จ ซึ่งจะเริ่มเชื่อมต่อที่ Module ไหนก็จะแล้วแต่การตั้งค่าในส่วนของ XLX Reflector ซึ่งกำหนดโดยผู้ดูแลระบบของ XLX นั้น ๆ ในส่วนของ XLX822 นั้นกำหนด YSF XLX Startup Module ไว้ที่ Module C

ภาพตัวอย่างหลังจาก Hotspot Pi-Star ของเราเชื่อมต่อไปยัง XLX Reflector ได้แล้ว

ที่เมนูของ Repeaters/Nodes ของ XLX Reflector นั้นก็จะมีรายการสัญญาณเรียกขานของเราแสดงอยู่ว่าเราได้เชื่อมต่อเข้ามาในโหมดของ YSF

การสั่งย้าย Module ไปยัง Module อื่น ๆ ของ XLX Reflector

หลังจากตัวเครื่อง FT-70D ของเราเชื่อมต่อไปยัง XLX Reflector ได้แล้ว หากเราต้องการย้ายไปยัง Module อื่น ๆ ที่อยู่ Reflector เดียวกัน ที่โหมด Wires-X นี้ ให้เราหมุนลูกบิดด้านบนมาอยู่ที่ En หรือเป็นการใส่หมายเลขที่จะเชื่อมต่อเข้าไป ตามภาพตัวอย่างหน้าจอด้านล่าง

ภาพตัวอย่างหน้าจอของ Yaesu FT-70D ที่ระบุหมายเลข 00012 เพื่อย้ายไปยัง Module L

เมื่อใส่ตัวเลขครบแล้วก็กดปุ่ม AMS อีกครั้งโดยไม่ต้องกดปุ่ม F ก่อน ตัวเครื่องก็จะสั่งงาน Hotspot Pi-Star ให้ย้ายไปยัง Module ของ XLX Reflector ที่เราเชื่อมต่ออยู่

คลิปวิดีโอการเชื่อมต่อไปยัง XLX822 และสั่งย้ายจาก Module C ไปยัง Module L

สำหรับ Yaesu Wires-X กับ Hotspot Pi-Star ยังทำงานไม่เข้ากันดีนักอาจจะมีปัญหาเรื่องการแสดงสถานะการเชื่อมต่อบ้างก็ให้ผู้ใช้สังเกตุในหน้า Dashboard ของตัว Hotspot ประกอบการใช้งานด้วย

มารู้จักกันต่อกับ Transcoding Server

สำหรับหัวใจสำคัญของ XLX Multiprotocol Server อีกอย่างคือ Transcoding Server เหตุผลของความสำคัญของ Transcoding Server ก็เพราะว่าถ้า XLX ใดก็แล้วแต่ที่ไม่มี Transcoding Server ติดตั้งเพื่อทำงานร่วมกันแล้วการสนทนาข้ามระบบระหว่าง D-STAR และ DMR/YSF จะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากโดยระบบแล้วจะต้องมีการถอดรหัสเสียง และเข้ารหัสเป็นอีกระบบระหว่าง D-STAR และ DMR ส่วน DMR และ YSF นั้นสามารถที่จะข้ามระบบกันได้ ปัญหาจะอยู่ระหว่าง D-STAR ไปยัง DMR/YSF และ DMR/YSF ไปยัง D-STAR ถ้าไม่มี Transcoding Server ฝั่ง D-STAR ก็จะรับสัญญาณจาก DMR/YSF เป็นคีย์เปล่า และฝั่ง DMR/YSF ก็จะรับสัญญาณของฝั่ง D-STAR เป็นคีย์เปล่าเช่นกัน

หลักการทำงานของ Transcoding Server

สำหรับ Transcoding Server นั้นเป็นโปรแกรม Opensource เช่นกัน สามารถติดตั้งใช้งานได้ฟรี แบ่งเป็น…

  • Transcoding Server ที่ติดตั้งอยู่ภายใน XLX Reflector ตัวเดียวกัน ในกรณีที่ XLX Reflector นั้นสามารถเสียบ Chip ถอดรหัสเสียงที่ตัว Server XLX ได้
  • Transcoding Server ที่ติดตั้งอยู่ภายนอก หรืออยู่คนละที่กับ XLX Reflector โดยจะทำงานผ่าน IP Address ของ Transcoding Server ซึ่งส่วนมาก Transcoding Server ที่มีใช้กันอยู่จะเป็นแบบติดตั้งอยู่คนละที่กับ XLX Server เพราะผู้ดูแลระบบส่วนใหญ่จะเลือกทำ XLX Server อยู่บน Cloud หรือ VPS ทำให้ไม่สามารถที่จะเสียบ Chip ถอดรหัสเสียงแบบ USB ได้ จึงต้องมีการติดตั้ง Transcoding Server แยกออกมาอยู่คนละที่กับ XLX Server
ภาพโครงสร้างของการเชื่อมต่อระหว่าง XLX Server และ Transcoding Server

สำหรับฝั่งของ Transcoding Server นั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ Chip ถอดรหัสเสียงที่นิยมใช้กันก็จะเป็นแบบ USB เช่น ThumbDV AMBE3000 จาก NWDigital Radio และ DVStick30 หรือ DVStick33 จากค่าย DVMEGA สำหรับ ThumbDV AMBE3000 และ DVStick30 นั้น Chip 1 ตัว เราจะเรียกว่า 1 CH และในการใช้งานถอดรหัสเสียงของ Module ต่าง ๆ ของ XLX Reflector 1 Module นั้นต้องใช้ Chip ถอดรหัสนี้จำนวน 2 CH พร้อมกันต่อ 1 Module หมายความว่าเราจำเป็นจะต้องมี ThumbDV AMBE3000 หรือ DVStick30 จำนวน 2 ตัวเพื่อทำการ Transcoding ใน 1 Module เพราะฉะนั้นถ้ามีการใช้งานกันมากกว่า 1 Module ในเวลาเดียวกันก็คูณ 2 เข้าไปครับ เช่นถ้ามีการใช้งาน Module C และ Module L พร้อม ๆ กันก็จะต้องใช้ ThumbDV AMBE3000 หรือ DVStick30 จำนวน 4 ตัว แต่สำหรับ DVStick33 นั้นมีความสามารถถอดรหัสเสียงได้ 3 CH ต่อ 1 ตัว ถ้าเรามี DVStick33 จำนวน 2 ตัว ก็สามารถที่จะใช้ทำการถอดรหัสเสียงพร้อม ๆ กันได้ 3 Module

ภาพตัวอย่าง ThumbDV AMBE3000 จาก NWDigital Radio
ภาพตัวอย่าง DVStick30 จาก DVMEGA

สำหรับราคาของ ThumbDV AMBE3000 จาก NWDigital Radio นั้นราคาปกติจะอยู่ที่ 119.95USD ก็ประมาณ 4,000 บาท ยังไม่รวมค่าจัดส่ง และสำหรับ DVStick30 นั้นราคาจะอยู่ประมาณ 95Euro ก็ประมาณ 3,900 บาท ยังไม่รวมค่าจัดส่งเช่นกัน ส่วน DVStick33 นั้นผู้จำหน่ายไม่เปิดเผยราคาต้องติดต่อไปสอบถามผู้จำหน่ายโดยตรง
จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายหลักในการทำ Transcoding Server นั้นไม่ใช่เครื่อง PC หรืออุปกรณ์ที่จะนำมาทำ Server แต่จะไปอยู่กับ Chip ถอดรหัสเสียง เพราะถ้าเราต้องการถอดรหัสเสียงให้ได้ 3 Module พร้อม ๆ กันนั้นจะต้องใช้ Chip ถอดรหัส 6 CH ซึ่งค่าใช้จ่ายโดยประมาณก็คือ 4,000 x 6 = 24,000 บาท

จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องทำ Transcoding ในทุก ๆ Module?

สำหรับการ Transcoding นั้นเราไม่จำเป็นจะต้องทำ Transcoding ในทุก ๆ Module โดยให้พิจารณาเป็นสองทางเลือก คือ

  • Transcoding เฉพาะ Module ที่จำเป็นต้องใช้งานเท่านั้นและใช้การ Lock Module ในการ Transcoding วิธีการนี้จะทำให้เราเลือก Transcoding เฉพาะ Module ได้เช่นต้องการ Transcoding เฉพาะ Module C และ L ก็สั่งให้มีการ Lock ให้ทำ Transcoding ที่ XLX Server เฉพาะ Module C และ L
ภาพตัวอย่างการใช้ ThumbDV DV3000 จำนวน 4 ตัว เพื่อ Transcoding 2 Module
  • Transcoding ในทุก ๆ Module แต่ติดตั้ง ThumbDV หรือ DVStick ตามปริมาณการใช้งานจริง วิธีการนี้ให้ดูว่าจริง ๆ แล้วมีการใช้งานพร้อม ๆ กันจำนวนกี่ Module เช่น ถ้าพิจารณาแล้วมีการใช้งานจริงประมาณ 2–3 Module พร้อม ๆ กัน เราอาจจะใช้ ThumbDV หรือ DVStick จำนวน 8 ตัว หรือ 8 CH เพื่อทำการ Transcoding ได้พร้อมกันทั้งหมด 4 Module พร้อม ๆ กัน ด้วยวิธีนี้เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องติดตั้ง ThumbDV หรือ DVStick ให้ครบตามจำนวน Module ซึ่งจะประหยัดงบประมาณในการทำ Transcoding ไปได้เป็นจำนวนมาก
ภาพตัวอย่างการใช้ ThumbDV DV3000 จำนวน 16 ตัว เพื่อ Transcoding XLX822 Module A-Z

ถ้ามีการ Interlink กันระหว่าง XLX ใครจะเป็นผู้ทำ Transcoding?

ถ้าหากว่ามีการทำ Interlink กันระหว่าง XLX เช่น ทำ Interlink ระหว่าง XLX822 และ XLX823 ที่ Module L การ Transcoding จะเกิดขึ้นฝั่งที่ทำการ TX เช่น ถ้ามีการ TX ในระบบ D-STAR ที่ XLX822 L ตัว XLX822 ก็จะต้องทำหน้าที่ Transcoding ที่ Module L ออกไปเป็นระบบ D-STAR และ DMR/YSF ซึ่งผู้ที่อยู่ที่ XLX823 L ก็จะรับฟังสัญญาณเสียงของทั้ง 3 ระบบได้ โดยที่ XLX823 นั้นไม่จำเป็นจะต้องมี Transcoding ติดตั้งอยู่ก็ได้ เพราะ XLX822 นั้นได้ทำ Transcoding มาให้แล้ว ในทางกลับกันถ้าการ TX นี้เกิดจาก XLX823 L ซึ่งที่ XLX823 นั้นไม่มี Transcoding ติดตั้งอยู่ ก็จะไม่มีการ Transcodeing เกิดขึ้น เนื่องจากการ Transcoding นั้นจะเกิดขึ้นที่ฝั่ง XLX Server ที่มีการ TX เท่านั้น ทำให้ผู้ที่อยู่ที่ XLX822 นั้นสามารถรับฟังสัญญาณเสียงได้เพียงระบบเดียวคือระบบเดียวกันกับที่ TX มาเท่านั้น ถ้ามีการ TX จากระบบ D-STAR ที่ XLX822 ก็จะรับฟังสัญญาณในระบบ D-STAR ได้แต่ DMR/YSF จะเป็นคีย์เปล่า และถ้ามีการ TX จากระบบ DMR/YSF ที่ XLX823 ผู้ที่ใช้งาน DMR ของ XLX822 ก็จะรับฟังสัญญาณเสียงได้ปกติแต่ผู้ที่ใช้ระบบ D-STAR ของ XLX822 ก็จะรับฟังได้เป็นคีย์เปล่าไม่มีเสียงออกมา

ปัญหาของการ Transcoding สัญญาณเสียงข้ามระบบ

  • ด้านคุณภาพเสียง สัญญาณเสียงที่ Transcoding ข้ามระบบจะมีระดับเสียงที่ต่างกันผู้ใช้ที่อยู่ต่างระบบกันอาจจะได้ยินความดังของเสียงจากอีกระบบในระดับที่ต่ำกว่าผู้ใช้ในระบบเดียวกัน และในบางกรณีอาจจะมีเสียงบี้บวมตามมาเล็กน้อยจนถึงค่อนข้างมาก
  • Transcoding เกินช่องหรือ CH ที่มี Chip ถอดรหัสเสียงอยู่ ก็จะทำให้ Module ที่กดคีย์ภายหลังจาก CH ถูกใช้ไปจนหมดนั้นไม่มีเสียงออก ปัญหานี้จะเกิดเฉพาะ XLX ที่มี ThumbDV/DVStick จำนวนน้อยและไม่มีการ Lock Module ที่ส่งไปทำ Transcoding
  • ถ้า Transcoding Server เกิดปัญหาใช้งานไม่ได้ ปัญหานี้แบ่งเป็น 2 กรณี กรณีแรกถ้า XLX Server ติดต่อ Transcoding Server ไม่ได้ XLX Server ก็จะยกเลิกการ Transcoding ไปเอง ถ้าหากต้องการให้มีการ Transcoding ใหม่ก็จะต้องมีการ Restart Service ของ XLX Server กรณีต่อมาเป็นปัญหาที่พบได้ค่อนข้างบ่อยคือ Transcoding มีการทำงานผิดพลาด กรณีนี้เสียงอาจจะไม่ออกในทุกระบบและจะต้องมีการ Restart Service ของทั้งสองฝั่งคือฝั่ง XLX Server และฝั่ง Transcoding Server

สำหรับบทความนี้น่าจะทำให้ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านได้ทราบถึงระบบของ XLX Server และ Transcoding Server กันบ้างแล้ว รวมถึงการใช้วิทยุสื่อสารเชื่อมต่อไปยัง XLX Server โดยผ่าน Hotspot Pi-Star หากมีส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ผิดพลาดไป หรือข้อมูลไม่ครบถ้วน รบกวนช่วยแจ้งโดยตรงได้ที่ HS2BMI ผ่าน LINE ID : aisfttx และถ้าต้องการรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิทยุสื่อสารในดิจิตอลโหมดเพิ่มเติมสามารถเข้าร่วม LINE Openchat ได้โดยการ SCAN QR Code ด้านล่างครับ

QR Code LINE Openchat XLX822
QR Code LINE Openchat AllStar Link

--

--