ว่าด้วยเรื่อง Static/Dynamic Talkgroups และ BM API Keys ในระบบ DMR

Digital Ham Radio
7 min readOct 10, 2021

บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักการใช้งาน Dynamic และ Static Talkgroups ในระบบ DMR และการสร้าง BM API Keys หรือ Brandmeister API Keys กันครับ สำหรับ Dynamic/Static Talkgroup ก็คือการตั้งค่า Talkgroups ที่เราจะรับฟังสัญญาณในระบบ DMR และ BM API Keys เป็นเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานระบบ DMR ที่ใช้บริการ Server ของ Brandmeister อยู่ ซึ่ง BM API Keys เปรียบเสมือนกุญแจที่จะทำให้เราเข้าจัดการอุปกรณ์ Hotspot Pi-Star ของเราโดยที่ไม่ต้องทำการ Login เข้าไปจัดการในหน้าเว็บ Brandmeister และนอกจากนั้น BM API Keys ที่เราสร้างขึ้นยังสามารถนำไปใส่ในระบบอื่น ๆ ที่รองรับการใช้งานผ่าน API ได้อีกด้วย (API คือ Application Interface)

ภาพตัวอย่างรายชื่อ API Keys ของผมที่ผมได้สร้างขึ้นไว้ใช้งาน

Dynamic/Static Talkgroups คืออะไร?

สำหรับผู้ใช้งานระบบ DMR หลาย ๆ ท่านอาจจะยังไม่ทราบหรือไม่เข้าใจเกี่ยวกับ Dynamic และ Static Talkgroups ของระบบ DMR

Dynamic Talkgroups ก็คือ Talkgroups ที่เรามีการสั่งเชื่อมต่อเป็นการชั่วคราว เกิดจากที่เรากดคีย์ TX ที่วิทยุสื่อสาร ณ ขณะนั้นตัวเครื่องตั้งค่าไว้ TG ไหน ก็จะสั่งเชื่อมต่อไปยัง TG หรือ Talkgroup นั้น ๆ แบบ Dynamic หรือแบบชั่วคราว หากไม่มีการใช้งานต่อเนื่องประมาณ 15 นาที Talkgroup นี้ก็จะหลุดไป ก็คือเราจะไม่สามารถรับฟังสัญญาณเสียงที่มาจาก Talkgroup นี้ได้อีกจนกว่าเราจะกด TX เพื่อสั่งเชื่อมต่อใหม่อีกครั้ง

ภาพตัวอย่าง Dynamic Talkgroups ที่เกิดขึ้นโดยการกด TX

Static Talkgroups ก็คือ Talkgroups ที่เรามีการสั่งให้อุปกรณ์หรือ Device ที่เชื่อมต่อไม่ว่าจะเป็น Hotspot หรือ DVSwitch ก็ตาม ซึ่ง Static Talkgroups นี้จะเกิดจากเราไปกำหนดในหน้าเว็บ Brandmeister หรือกำหนดจาก Application ต่าง ๆ เช่น Brandmeister Device Manager ในระบบ Android และ BM Hotspot ในระบบ iOS หรือแม้กระทั่ง Hotspot Pi-Star ก็สามารถสั่งให้เพิ่มหรือลด Static Talkgroups ได้เช่นกัน ซึ่งทุก ๆ ช่องทางที่ไม่ใช่ผ่านหน้าเว็บ Brandmeister เราจะต้องมี API Keys ถึงจะทำการกำหนด Static Talkgroups ได้ ซึ่ง Static Talkgroup นี้เองที่จะทำให้ตัวเครื่องวิทยุระบบ DMR เราไม่ต้องทำการ TX เพื่อสั่งเชื่อมต่อ Talkgroups ต่าง ๆ ที่ต้องการรับฟังเลย เมื่อใดก็ตามที่เราเปิด Hotspot หมายเลขนี้มาเราก็จะรับฟัง TGs ต่าง ๆ ที่เรากำหนดไว้ได้ทันที ซึ่งในตัวอย่างจะเป็น Hotspot หรือ Repeater ID หมายเลข 04 ตัวอย่างของผมก็คือ DMR ID + ESSID = 520088304 การตั้งค่า Static Talkgroups นี้จะแยกตามหมายเลขอุปกรณ์ในระบบ DMR ของเรา เช่นถ้าเรามีอุปกรณ์ Hotspot หรือ DVSwitch หลาย ๆ ตัวเราก็สามารถกำหนด Static Talkgroups แยกกันตามอุปกรณ์ได้ การเพิ่มหรือลด Static Talkgroups จะไม่มีผลกับอุปกรณ์หมายเลขอื่นของเรา

ภาพตัวอย่างรายการ Static Talkgroup ของอุปกรณ์ Repeater ID 04

BM API Keys หลัก ๆ แล้วใช้ทำอะไร?

ประโยชน์หลักของ BM API Keys คือ ทำให้เราสามารถเพิ่ม/ลด Static Talkgroups ได้ทั้งบน Application ในมือถือ และ Hotspot Pi-Star ซึ่งอำนวยความสะดวกให้กับเราในการที่จะเพิ่ม / ลด / หรือยกเลิกรับสัญญาณที่รับอยู่ ณ TG นั้น ๆ ของระบบ DMR ซึ่ง BM API Keys นี้จะใช้ได้เฉพาะระบบ DMR ที่ใช้ Server ต่าง ๆ ของ ผู้ให้บริการ Brandmeister Network ซึ่ง ณ วันนี้หลาย ๆ คนคงเริ่มคุ้นเคยกับ Brandmeister กันแล้ว ซึ่งถ้าเราจะใช้งานระบบ DMR หลัก ๆ แล้ว Branmeister ก็เป็นผู้ให้บริการ Server ในระบบ DMR รายใหญ่รายหนึ่งของโลก

ภาพซ้ายหน้าจอของ App Brandmeister Device Manager // ภาพขวา App BM Hostpot

การใช้งาน Brandmeister ต้องลงทะเบียนอีกหรือไม่?

สำหรับท่านที่มีหมายเลข DMR ID ประจำตัวแล้วการที่จะใช้งานในเว็บ Brandmeister นั้นจะต้องทำการลงทะเบียนก่อนนะครับ เนื่องจาก DMR ID นั้นเราได้มาจากเว็บ radioid.net แต่สำหรับการใช้งาน Brandmeister นั้นจะต้องไปลงทะเบียนใช้งานใหม่ที่ brandmeister.network ซึ่งฐานข้อมูลของทั้งสองเว็บนี้ยังไม่ได้เชื่อมกันจึงต้องมีการลงทะเบียนแยกกันครับ ส่วนวิธีการลงทะเบียนผมได้เคยทำเป็นบทความไว้แล้วที่นี่ครับ “บทความลงทะเบียน Brandmeister

มาเริ่มต้นกันที่การเพิ่มและลบ Static Talkgroups กันครับ

หลังจากที่เราสมัครใช้บริการและได้รับการอนุมัติจากเว็บ Brandmeister กันแล้ว ก็ให้เราทำการ Login เข้าไปในระบบก่อนซึ่งหลังจาก Login ก็จะได้ผลดังภาพตัวอย่างด่านล่าง ซึ่งส่วนสำคัญในการจัดการ Hotspot จะอยู่ทางด้านซ้ายมือ

ภาพตัวอย่างหน้าเว็บ Brandmeister หลังจาก Login เข้าใช้งาน

ซึ่งเราจะเห็นว่ามีส่วนที่แสดงรายการ Hotspot ของเราแสดงอยู่ซึ่งถ้า Hotspot ตัวไหนของเราออนไลน์ในระบบได้ จะมีสัญญลักษณ์สีเขียวแสดง และสัญญลักษณ์สีแดงตามท้ายหมายถึง Hotspot ที่ไม่สามารถออนไลน์ได้ หรือเราไม่ได้เปิดไว้ ซึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ Hotspot ของหลาย ๆ ท่านไม่สามารถออนไลน์ได้เนื่องจากข้อกำหนดในการใช้รหัสผ่านใหม่ของ Brandmeister ซึ่งถ้าเราเข้ามาดูในระบบเราก็จะเห็นว่าแม้เราจะเปิด Hotspot แล้วแต่สถานะของ Hotspot หมายเลขนั้น ๆ ก็จะมีสถานะไม่ออนไลน์เป็นสีเขียว เนื่องจากเรายังไม่ได้กำหนดรหัสผ่านในระบบ
สำหรับวิธีการเพิ่มหรือลบ Static Talkgroups ก็ทำได้ง่ายมากครับ โดยเลือกหมายเลขของ Hotspot ที่เราจะกำหนด ซึ่ง Hotspot ตัวนั้นไม่จำเป็นจะต้องออนไลน์อยู่ อาจจะเป็น Hotspot ที่ปิดอยู่ก็ได้ แต่เมื่อ Hotspot ตัวนั้นเปิดขึ้นมาก็จะดึงค่า Static Talkgroups นี้ไปใช้งานเอง
หลังจากเลือกหมายเลข Hotspot ที่ต้องการกำหนดแล้ว ถ้าจะเพิ่ม Talkgroups เข้าไปก็ใส่หมายเลข Talkgroups ที่ต้องการแล้วกดลูกศรชี้ไปทางขวา และหากต้องการเอา Talkgroups ไหนออกก็เลือกหมายเลข Talkgroups ทางด้านขวาแล้วกดลูกศรชี้ไปด้านซ้ายเพื่อเอาออก

ภาพตัวอย่างการเพิ่มและลด Static Talkgroups ผ่านหน้าเว็บ Brandmeister

ขั้นต้อนการเพิ่มหรือลด Static Talkgroup ผ่านทางหน้าเว็บของ Brandmeister มีเพียงเท่านี้ เดี๋ยวผมจะลองเพิ่ม TG 520822 เข้าไปนะครับ โดยผ่านทางหน้าเว็บของ Brandmeister ให้สังเกตุว่า Hotspot Pi-Star ก็จะ Update ข้อมูลตามเช่นกัน

ภาพตัวอย่างหน้าเว็บ Hotspot Pi-Star ก่อนการเพิ่ม TG 520822

ผมทำการเพิ่มโดยกำหนดหมายเลข 520822 และคลิ๊กลูกศรไปทางขวาเพื่อเพิ่ม TGs

ภาพตัวอย่างการสั่งเพิ่ม TG 520822 เข้าไปใน Static Talkgroups
ภาพตัวอย่างหลังจากคลิ๊กลูกศรไปทางขวาแล้ว

จะเห็นว่า ณ ตอนนี้ข้อมูลในหน้าเว็บ Brandmeister ของ Hotspot หมายเลข 520088304 ของผมมี TG 520822 อยู่แล้วต่อไปก็ไปดูข้อมูลใน Hotspot Pi-Star ว่าข้อมูลได้ Update TGs ตามหรือไม่

ภาพตัวอย่างข้อมูล Static TGs ใน Hospot Pi-Star หมายเลข 520088304

จะเห็นว่าหลังจากข้อมูลใน Brandmeister ของผม Update TG 520822 เข้าไป ข้อมูล Static TGs ใน Hotspot Pi-Star ของผมก็จะ Update ตามเช่นกัน ข้อควรระวังคือให้ตรวจสอบให้แน่ใจว่า Hotspot ที่ต้องการ Update หมายเลขอะไรแน่และทำการ Update ข้อมูลให้ตรงกับหมายเลขเท่านั้นก็พอ

ประโยชน์หลัก ๆ ของ Static Talkgroups คืออะไร?

สำหรับประโยชน์หลักเลยที่ผมนำ Static Talkgroups มาใช้คือการเฝ้าฟังหลาย ๆ TGs โดยไม่ต้องกดคีย์ TX เพื่อเชื่อมต่อไปยัง TGs นั้น ๆ โดยเมื่อไรก็ตามที่เปิด Hotspot ขึ้นมา TGs ทุก ๆ TGs ที่เราทำ Static ไว้มีสัญญาณเข้ามาเราก็สามารถรับฟังได้เลยและประโยชน์อีกอย่างที่ผมว่าสำคัญมากคือเราไม่ต้องกดคีย์ TX เพื่อเชื่อมต่อ TGs เลยซึ่งการกด TX เพื่อเชื่อม TGs แต่ละครั้งจะมีคีย์ของเราไปขึ้นที่ปลายทางที่เปิด TGs นั้นไว้ ทำให้เกิดการรบกวนเพื่อน ๆ โดยไม่ตั้งใจอีกด้วย
สำหรับ Static Talkgroups นั้นมีแต่ในระบบดิจิตอล DMR ซึ่งระบบ DSTAR / YSF หรือ NXDN นั้นจะไม่มี เราไม่สามารถรับฟังสัญญาณจากหลาย ๆ Talkgroups หรือหลาย ๆ Module ได้เลย เช่น ถ้าเราจะรับฟัง REF087C และ REF822C ในเวลาเดียวกันสำหรับระบบ DSTAR นั้นเราไม่สามารถทำได้ยกเว้นจะใช้ Hotspot มากกว่า 1 ตัวและเปิดฟัง 2 ความถี่ แต่สำหรับระบบ DMR นั้น ระบบได้ออกแบบมาดีมาก เราสามารถตั้งค่าไว้เพื่อเฝ้าฟัง TGs ที่สำคัญ ๆ ได้มากกว่า 1 TG เช่น…

520 ตั้งไว้เพื่อรับฟัง TG รวมของประเทศไทย
52002 ตั้งไว้เพื่อรับฟัง TG จาก DV Repeater ของ RAST
52024 ตั้งไว้เพื่อรับฟัง TG ประจำจังหวัดจันทบุรี
520822 ตั้งไว้เพื่อรับฟัง DSTAR จาก REF822 Module C
520175 ตั้งไว้เพื่อรับฟัง DSTAR จาก REF822 Module M

จะเห็นว่า ทุก ๆ TGs นั้นมีความสำคัญโดยเราสามารถรับฟังได้ทุก ๆ TGs ในเวลาเดียวกัน แต่สัญญาณที่จะออกลำโพงนั้นจะออกได้เพียง 1 TG ในเวลาเดียวกัน ขึ้นอยู่กับสัญญาณจาก TG ไหนเข้ามาก่อน ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติในการรับฟังช่องสัญญาณ

มี Static Talkgroups แล้วมีสัญญาณเข้ามาแต่เสียงไม่ออก…

สำหรับผู้ที่ใช้งานเครื่อง Expert หรือ Anytone กรณีมีสัญญาณตาม TGs เข้ามาและไฟรับสีเขียวขึ้นแต่ไม่มีเสียง เราอาจจะยังไม่ได้กำหนดโหมด Digital Monitor ให้รับฟังได้ทั้ง 2 Time Slot ให้ลองหาเมนู Digi Moni แล้วเลือก DigiMoni Switch และเปลี่ยนค่าจาก Off ให้เป็น Double Slot เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถรับฟังสัญญาณที่เข้ามาของทุก ๆ Time Slot ได้

ภาพตัวอย่างการตั้งค่า Digital Monitor ของเครื่องมือถือ Expert

มาเริ่มสร้าง BM API Keys กัน

สำหรับ API Keys ของ Brandmeister นั้น วิธีการสร้างไม่ยาก หลังจาก Login เข้าระบบของ Brandmeister แล้วให้เข้าไปที่สัญญาณเรียกขานก่อนแล้วเลือกที่เมนู Profile Settings

ภาพตัวอย่างเมนู Profile Settings

หลังจากเลือก Profile Settings แล้วในส่วนของ Security Settings จะมีปุ่ม API Keys อยู่ให้คลิ๊กที่ปุ่มนี้ เพื่อเข้าไปสร้างหรือลบ API Keys

ภาพตัวอย่างหน้าเว็บ Profile ของ Brandmeister

จากนั้นหน้าเว็บจะแสดงรายการ API Keys ที่มีอยู่และสามารถเพิ่มได้โดยกดปุ่ม Add สำหรับ API Keys ที่เราสร้างไว้แล้ว สามารถลบทิ้งได้โดยการกด Revoke ซึ่งมีผลทำให้ Keys นั้น ๆ ถูกลบทิ้งและอุปกรณ์ Hotspot หรือ Application ที่ใช้ Keys นั้น ๆ ไม่สามารถใช้งานได้อีก จนกว่าจะมีการนำ Keys ใหม่เข้าไปใส่

ภาพตัวอย่างหน้าเว็บ API Keys

คลิ๊กที่ปุ่ม Add เพื่อสร้าง API Keys ขึ้นมาใหม่

ภาพตัวอย่างการใส่ชื่อของ API Key

ระบบจะให้ใส่ชื่อของ API Key ในตัวอย่างนี้ผมใส่ชื่อเป็น test key แล้วคลิ๊กที่ปุ่ม Ok

ภาพตัวอย่าง API Key ที่ระบบสร้างขึ้น ซึ่งมีทั้งเป็นตัวอักษรและ QR Code

หลังจาก Scan QR Code หรือ ได้ทำการ Copy Key ไว้เรียบร้อยแล้วก็ให้ทำการคลิ๊กที่ปุ่ม Ok เพื่อให้ Key นี้เข้าในระบบของเรา วิธีการ Copy Key ไว้ง่าย ๆ คือกดปุ่ม Copy แล้วไปวางใน nodepad หรือส่ง LINE เป็นข้อความเข้าหาตัวเองเก็บไว้ก่อน หรือจะส่งเป็น mail ก็ย่อมได้ และหลังจากที่เรากดปุ่ม Ok เราก็จะเห็น Active Keys ว่ามี Key ชื่อ test key เพิ่มเข้ามาในระบบ

ภาพตัวอย่างในส่วนของ Active Keys

ถ้าหากท่านใดนำ Key นี้ไปใช้ใน Application ก็สามารถใช้งานได้ทันที โดยการ Scan QR Code ของ API Keys ที่แสดงบนหน้าจอ แต่สำหรับ Hotspot Pi-Star นั้น เราจะต้องทำการวาง API Keys เข้าไปใน Pi-Star ก่อน ซึ่งจะทำให้เมนู Admin ใน Hotspot Pi-Star มีส่วนของการกำหนด Static Talkgroups เพิ่มขึ้นมา ภาพด้านล่างแสดงถึงหน้า Admin ของ Hotspot Pi-Star ที่ยังไม่มีการเพิ่ม BM API Keys เข้าไป

ภาพตัวอย่างหน้าเว็บ Admin ของ Hotspot Pi-Star ก่อนการเพิ่ม BM API Keys

วิธีการวาง BM API Keys เข้าไปในระบบก็ง่ายมาก โดยให้เข้าไปที่เมนู่
Configuration -> Expert และเลือก BM API หน้าเว็บก็จะแสดงส่วนที่ให้เราวาง Key ขึ้นมา ในที่นี้เราต้อง Copy Key ที่จะวางไว้ในคลิปบอร์ดเรียบร้อยแล้ว ถ้าหากในคลิปบอร์ดไม่มีข้อมูล Key อยู่ก็ให้เราทำการ Copy Key ที่สำรองไว้ก่อนแล้วค่อยนำมาวางในกรอบ apikey โดยการคลิ๊กขวาแล้ว Paste หลังจากวางแล้วก็ให้คลิ๊กที่ปุ่ม Apply Changes เพื่อบันทึก Key เข้าไป

ภาพตัวอย่างการเลือกเมนู Configuration -> Expert -> BM API
ภาพตัวอย่าง Key ที่ถูกวางโดยการ Paste

หลังจากคลิ๊ก Apply Change ที่กรอบของ Key จะเห็นเหมือนว่าง ๆ ไม่มีข้อมูล เราสามารถเรียกดู Key ที่เราวางได้โดยการคลิ๊กที่ BM API อีกครั้ง

หลังจากที่เราได้วาง Key เรียบร้อยแล้วก็ให้ลองกลับไปที่หน้า Admin ของ Hotspot Pi-Star ดูว่ามีเมนูเพิ่มขึ้นมาหรือไม่ ซึ่งถ้า Key ที่เราวางเข้าไปถูกต้องเราจะเห็นเมนูพิเศษของ Brandmeister เพิ่มขึ้นมา

ภาพตัวอย่างเมนู Brandmeister Manager

ที่เมนูนี้เองที่จะทำให้เราสามารถจัดการ Talkgroupห ของ Hotspot ของเราได้ โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้

ช่อง Static Talkgroup เอาไว้สำหรับใส่หมายเลข TGs ที่ต้องการเพิ่มหรือลด
ช่อง Slot TS1/TS2 คือ Time Slot ที่จะเพิ่ม TGs เข้าไปโดยทั่วไปจะเป็น TS2
ช่อง Add/Delete คือ Add สำหรับเพิ่ม TGs และ Deleteสำหรับลบ TGs
ปุ่ม Modify Static คือ ยืนยันการเพิ่มหรือลบ TGs ตามที่เรากำหนด
ปุ่ม Drop QSO คือ ปุ่มเพื่อสั่งหยุดรับสัญญาณผู้ที่ QSO อยู่ในขณะนั้น ๆ ซึ่งจะมีผลเพียงแค่ 1 คีย์ที่เพื่อนกำลังสนทนาอยู่ ใช้ในกรณีที่เพื่อนคีย์ยาวและเราต้องการสั่งการ Hotspot ณ ขณะนั้น ซึ่งจะมีประโยชน์มากถ้าหากเราต้องการหยุดฟังการ QSO
ปุ่ม Drop All Dynamic คือ สั่งหยุดการเชื่อมต่อ Dynamic Talkgroups ทั้งหมด ซึ่งเหมือนกับเราใช้คำสั่ง TG 4000 เพื่อสั่ง Unlink จากตัวเครื่อง DMR

ตอนนี้ที่ Hotspot Pi-Star ผมมี Static Talkgroup TG 520, TG 52002, TG 52024 และ TG 520822 ผมจะลองสั่งลบ TG 520822 ออกไปจากระบบ ผมก็ใส่หมายเลข TG ที่ต้องการลบคือ 520822 และเลือก Delete หลังจากนั้นคลิ๊ก Modify Static

ภาพตัวอย่างการสั่งลบ Static Talkgroup ออกจาก Pi-Star

หลังจากผมคลิ๊ก Modify Static รอประมาณ 2–3 วินาที TG 520822 ของผมก็จะไม่มีใน Static TGs แล้ว

ภาพตัวอย่างรายการ Static TGs หลังจาก TG 520822 ถูกลบออกไป

จะเห็นว่าเทคนิคการใช้งานนี้มีประโยชน์มาก ๆ สมมุติเราต้องการเฝ้าฟังหลาย ๆ TGs ในเวลาเดียวกัน เราก็สามารถเพิ่มเข้าไปใน Hotspot Pi-Star ได้ แต่ถ้าหากเกิดมีสัญญาณเข้ามาพร้อม ๆ กันมากกว่า 1 TG เราก็ยังสามารถสั่งให้ Hotspot Pi-Star ลบ Static Talkgroups บางตัวที่มีความสำคัญน้อยกว่า ออกไปก่อนได้โดยไม่ต้องไปเข้าเว็บ Brandmeister ทำให้เกิดความสะดวกในการใช้งานขึ้นมาก และนอกจากนี้ผมจะยกตัวอย่างการใช้งาน Application BM Hotspot ในระบบ iOS ให้ดูด้วย ซึ่งข้อมูล Static Talkgroups เหล่านี้จะเชื่อมโยงกันหมดตามหมายเลขของ Hotspot เราสามารถเพิ่ม TGs จาก Brandmeister แล้วมาสั่งลบใน Hotspot หรือสั่งลบโดยการใช้ Application ก็ได้ โดยทั้ง Application และ Hotspot จะต้องมี Key หรือกุญแจในการเข้าระบบถึงจะสามารถสั่งการได้ครับ

ภาพตัวอย่างการใช้ Application BM Hotspot ในการเพิ่ม TG 520822 เข้าไปใน Static TGs

ซึ่งถ้าเราเพิ่มจาก Application BM Hotspot แน่นอนว่าใน Hotspot Pi-Star ของเราก็จะต้องมี TG 520822 เพิ่มขึ้นมาอยู่ในรายการของ Static TGs

ภาพตัวอย่างรายการ TG 520822 ที่ถูกเพิ่มจาก Application BM Hotspot

การใช้งาน Application BM Hotspot ใน iOS ถือว่าสะดวกสบายและสวยงาม แต่เท่าที่ใช้งานเบื้องต้นผมพบปัญหาที่ BM API Key หลุดไปและจะต้องทำการ Scan ใหม่เรื่อย ๆ ถ้าเราเคลียร์ Application ออกไป เราอาจจะต้องมีการบันทึก QR Code Key ของเราไว้ก็ได้ แต่สำหรับ BM Hotspot บน Android กลับทำงานได้อย่างไม่มีปัญหาครับ SCAN QR Code Key เข้าไปเพียงครั้งเดียวก็ใช้งานได้ตลอด ไม่แน่ใจอาจจะเป็นที่อุปกรณ์ iOS ของผมก็ได้ ยังไงก็ทดลองกันดูนะครับ

อีก Application ที่นำมาใช้งานได้คือ Brandmeister Device Manager ซึ่งอยู่ในระบบปฏิบัติการ Android ซึ่งเป็นของ Brandmeister เองก็น่าจะเสถียรพอสมควร เพื่อน ๆ ลองทดลองใช้กันดูนะครับ

ภาพตัวอย่าง Application Brandmeister Device Manager

สำหรับบทความนี้ก็น่าจะทำให้เพื่อน ๆ นักวิทยุสมัครเล่นได้เข้าใจประโยชน์ใช้งานของ Dynamic และ Static Talkgroups กันพอสมควรแล้ว และคงได้เข้าใจประโยชน์ในการใช้งานควบคู่กับ BM API Keys กันแล้ว หากในบทความมีสิ่งใดที่ผิดพลาดหรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถแจ้งมาโดยตรงได้ที่ผม HS2BMI โดยแจ้งทางไลน์ส่วนตัว LINE ID : aisfttx และสำหรับเพื่อน ๆ ที่สนใจเข้าร่วมกลุ่ม LINE Openchat เพื่อรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิทยุสื่อสารดิจิตอลโหมดทั้ง DSTAR และ DMR ก็สามารถ SCAN QR Code เพื่อมเข้าร่วมกลุ่มได้ทันทีครับ นอกจากบทความนี้แล้วผมยังมีบทความอีกมากมาย ซึ่งรวบรวมไว้ที่ Link นี้ครับ

QR Code LINE Openchat XLX822
QR Code LINE Openchat AllStar Link

--

--