เริ่มต้นกับ AMPRNet IP44

Digital Ham Radio
3 min readMar 21, 2023

--

ในบทความนี้จะเป็นการเริ่มทำความรู้จึกกับระบบ AMPRNet (AMateur Packet Radio Network) ซึ่งเป็น Network ที่มี IP ขึ้นต้นด้วย 44 ซึ่งต่อไปนี้เราจะเรียกสั้น ๆ ว่า IP44 สำหรับ IP44 นี้เป็น Public IP ที่สงวนไว้ให้กับนักวิทยุสมัครเล่นเท่านั้น เพื่อเอาไว้สำหรับทดสอบทดลองในกิจการวิทยุสมัครเล่น ซึ่งชุด IP44 นี้คือ Public IP ที่มีตัวเลขนำหน้าเป็น 44 เช่น 44.0.0.1 โดยประเทศไทยได้รับการจัดสรรชุด IP44 นี้จำนวนทั้งสิ้น 4096 หมายเลข โดยมีหมายเลขเริ่มต้นที่ 44.159.0.0 ไปจนถึง 44.159.15.255 ในปัจจุบันเราได้รับความอนุเคราะห์จากทีม DTDXA และ บริษัท เมทราไบต์ คลาวด์ จำกัด ทำให้เราสามารถใช้ IP44 ได้อย่างง่าย ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับความอนุเคราะห์นี้ การที่จะนำ IP44 มาใช้งานได้นั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ถึงทำได้ก็จะได้ประสิทธิภาพในการใช้งานที่ไม่เสถียรนัก สำหรับเพื่อน ๆ นักวิทยุสมัครเล่นท่านใดที่อ่านบทความนี้แล้วมีความประสงค์จะขอใช้งาน IP44 กับกิจการวิทยุสมัครเล่นของตนเองก็สามารถส่งคำขอได้ที่ ทีม DTDXA ซึ่งขั้นตอนในการขอนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยากเลย เพียงกรอกแบบฟอร์มคำขอใช้แบบออนไลน์พร้อมกับ upload รูปภาพบัตรพนักงานนักวิทยุสมัครเล่นซึ่งจะสถานะของบัตรจะต้องไม่หมดอายุนะครับ และหลังจากกรอกแบบฟอร์มคำขอแล้วก็ควรจะเข้าร่วมกลุ่มไลน์ Openchat DTDXA ในส่วนของ AMPRNet [Class44] ด้วย เพื่อสอบถามสถานะในการขอหรือสอบถามข้อมูลการใช้งานเพิ่มเติม

www.dtdxa.com
ampr.org

IP44 ขอไปแล้วได้โยชน์อะไร

ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับคำว่า IP Address หรือ Internet Protocol Address ก่อนครับ IP Address ก็คือหมายเลขที่ใช้ในการสื่อสารของอินเตอร์เน็ต ซึ่งเราก็มักจะได้ยินเพื่อน ๆ พูดกันว่า IP จริง, Private IP, Public IP และ Fixed IP ซึ่งแต่ละประเภทแตกต่างกันดังนี้

Private IP หรือ IP ที่ไม่ใช่ IP จริง จะเป็นหมายเลข IP ที่ไม่สามารถเอาไปสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตได้ เช่น IP ภายในบ้านเรา 192.168.1.xx เป็นต้น IP พวกนี้จะใช้ได้เฉพาะภายในบ้าน สำนักงาน หรือหน่วยงานเป็นการภายในเท่านั้น ซึ่งถ้าจะสื่อสารกับโลกภายนอกได้ก็จะได้ส่งข้อมูลผ่าน Router ซึ่ง Router นี้ก็จะมี Public IP หรือ IP จริงอยู่ Router ก็จะทำการแปลง IP ของบ้านเราให้เป็น Public IP เพื่อสื่อสารกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้

Public IP หรือ IP จริง จะเป็นหมายเลข IP ที่สามารถสื่อสารกับโลกภายนอกผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ และผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตภายนอกก็สามารถเรียกเข้ามาใช้งานบริการที่อยู่ใน Server หรือ อุปกรณ์ของเราได้โดยตรง ส่วนมาก Public IP จะอยู่ใน Router อินเตอร์เน็ตบ้านของเรา และส่งข้อมูลเป็น Private IP มาให้อุปกรณ์ต่าง ๆ อีกที ซึ่ง IP44 ที่เราพูดถึงนี้ถือว่าเป็น Public IP ด้วยเช่นกัน

Fixed IP หรือ Public IP ที่มี IP คงที่ได้รับหมายเลขเดิมเสมอ เช่น ถ้าได้รับหมายเลขเป็น 44.159.12.86 ก็จะได้รับ IP เป็นหมายเลขนี้เสมอไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งข้อดีก็คือหากเราอยู่ในภายนอกบ้าน เราก็สามารถระบุหมายเลขนี้เพื่อกลับมาใช้บริการที่เปิดไว้ที่บ้านหรือสำนักงานได้ ระบบ Fixed IP นี้ถ้าต้องการใช้งานจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงบางผู้ให้บริการอาจจะมีการคิดเพิ่มเดือนละหลักพันบาท แต่ถ้าเป็นชุด IP44 นั้น เราสามารถใช้งานได้แบบฟรี ๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายและยังเป็นระบบ Fixed IP อีกด้วย

ประโยชน์ของการขอ IP44 มาใช้งานนั้นก็คือ หากเราอยู่ภายนอกบ้าน และต้องการเข้าถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ภายในบ้านเรานั่นเอง ตัวอย่างการนำ IP44 มาใช้งาน

  1. ถ้าเรามี Hotspot Pi-Star ที่ทำสถานี Simplex Link และต้องการดูหน้า dashboard ตั้งค่าเพิ่มเติม หรือสั่ง restart เราก็สามารถทำได้
  2. นำไปใช้งานกับ DVSwitch Server อยู่ที่บ้านเพื่อใช้ Application DVSwitch Mobile เชื่อมต่อกลับมายัง DVSwitch Server ที่อยู่ที่บ้านผ่าน IP44
  3. บางท่านมี AMBE Server ก็สามารถใช้ Application BlueDV AMBE เชื่อมต่อผ่าน IP44 ได้เช่นกัน
  4. ใช้ IP44 สำหรับการดูสถานะหรือรีโมทตั้งค่า Node Allstarlink
  5. สำหรับเพื่อน ๆ ที่ใช้ Echolink มักประสบปัญหาระบบ IP ที่ไม่ใช่ IP จริง หรือเป็น Private IP จะไม่สามารถออนไลน์ได้ ต้องไปหา Echolink Proxy ทำให้เกิดความยุ่งยากในการใช้งาน ถ้าเรามีชุด IP44 นี้เราก็สามารถที่จะออนไลน์ Echolink ผ่าน IP44 ได้เช่นกัน
  6. ประโยชน์มหาศาลของ IP44 คือเป็น Public IP แบบ Fixed IP ซึ่งถ้าเป็นอินเตอร์เน็ตบ้านทั่วไปที่เป็น Private IP ถ้าต้องการ Public IP อาจจะต้องจ่ายเพิ่มเดือนละสองร้อยกว่าบาท และยิ่งไปกว่านั้นถ้าต้องการ Public IP แบบ Fixed IP ก็จะต้องจ่ายเพิ่มเดือนละหลักพันบาทเลยทีเดียว

ตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สามารถทำได้ทั้งหมดโดยใช้ IP44 เพียงหมายเลขเดียว ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่าต้องมี dyndns สำหรับ IP44 แล้ว dyndns นั้นไม่มีความจำเป็นเลย IP44 สามารถทำงานได้ดีโดยไม่ต้องพึ่งบริการ dyndns ก็เพราะว่า IP44 ที่เราได้รับมาจะเป็นหมายเลขคงที่ เราสามารถระบุหมายเลขนี้เพื่อใช้งานได้เลย ซึ่งถ้าเป็นหมายเลข IP ของอินเตอร์เน็ตบ้านทั่วไปนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็น Public IP หรือ IP จริงแล้วก็ตาม หากสัญญาณหลุดหรือมีการปิด/เปิด router แต่ละครั้งหมายเลขจะสุ่มใหม่ไปเรื่อย ๆ จึงต้องมีการใช้บริการ dyndns เข้ามาช่วย ซึ่งก็จะเป็นปัญหาพอสมควร

ภาพแสดงการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่าน IP44 จาก Mikrotik Router

หลังจากดำเนินเรื่องขอแล้ว IP44 จะมาที่บ้านได้อย่างไร?

เมื่อส่งเรื่องขอใช้บริการและได้รับการอนุมัติแล้ว การที่จะให้หมายเลข IP44 มาอยู่ที่อุปกรณ์ของเรานั้นปกติทำได้ 2 แบบ แบบแรกคือใช้ Software ระบบ VPN เพื่อเชื่อมต่อไปยัง Server ที่ทำหน้าที่แจกจ่าย IP44 ในเมืองไทย ซึ่งแบบนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าหากมีหลาย ๆ อุปกรณ์ที่ต้องการใช้ IP44 ก็ทำได้แต่จะยุ่งยากมาก และแบบที่ 2 คือใช้ Router เป็นตัวเชื่อมต่อไปยัง Server ของ IP44 แทน แบบนี้เราสามารถให้ Router เป็นตัวจัดการในการเชื่อมต่อและส่งต่อข้อมูลให้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ของเราอีกที ก็อาจจะมีความยากอยู่บ้างแต่ก็สะดวกในการใช้งานมาก แบบนี้เราจะต้องมี Router อีกตัวเป็นตัวจัดการ ค่าใช้จ่ายก็จะอยู่หลักพันบาท หรือแล้วแต่รุ่นของ Router

หลักการเชื่อมต่อของ IP44 นั้นจะใช้ระบบ VPN หรือ Virtual Private Network หรือแปลเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ว่าเครือข่ายเสมือน เป็นการเชื่อมต่อไปยัง VPN Server และ VPN Server ก็จะจัดสรรหมายเลข IP44 ที่เราได้รับมาให้ ซึ่งหมายเลข IP44 ก็จะผูกกับ username / password ของเราที่เราได้รับจากทีม DTDXA ระบบ VPN เป็นการจำลองเครือข่ายขึ้นมาภายใต้เครือข่ายเดิม หรือภายใต้อินเตอร์เน็ตที่เราใช้งานอยู่หากเราเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ VPN ก็จะทำงานและเราก็จะได้รับหมายเลข IP44 ซึ่งจะเชื่อมต่อด้วยระบบ IP แบบใดก็ได้ หรือแม้กระทั่งเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย 3G/4G/5G เราก็จะสามารถใช้หมายเลข IP44 ของเราได้อย่างสบาย

ภาพแสดงการเชื่อมต่อ VPN ออกไปที่ VPNvServer และ VPN Server จะให้ IP44 กลับมา

Router แบบไหนเหมาะกับการเอามาทำระบบ IP44?

อุปกรณ์ Router ที่เหมาะที่จะเอามาทำเป็น VPN Router สำหรับระบบ IP44 ก็คือ Router ยี่ห้อ Mikrotik ซึ่งราคาประหยัดแต่สามารถรองรับการทำ IP44 ได้ดีมาก ซึ่งทั่วไปเราสามารถหาซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่าหนึ่งพันบาท เช่นรุ่น RB941–2nD (hAP lite) ซึ่งเป็นรุ่รประหยัดราคารวม VAT 7% แล้วอยู่ประมาณเก้าร้อยกว่าบาท

ภาพ Router ยี่ห้อ Mikrotik รุ่น RB941–2nD (hAP lite)

ข้อจำกัดของการใช้งาน IP44 ผ่านทาง VPN ของทีม DTDXA

ไม่เรียกว่าเป็นข้อเสียนะครับ เรียกว่าเป็นข้อจำกัดในการใช้งานมากกว่า

  1. การที่จะใช้งาน IP44 ผ่านทาง VPN ได้นั้นจะต้องมีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเดิมเป็นพื้นฐานก่อนจึงจะสามารถเชื่อมต่อ IP44 มาใช้งานได้ ทำให้เป็นการเชื่อมถึงสองชั้นจึงจะสามารถใช้งาน IP44 ได้
  2. ความเร็วในการใช้งานจะจำกัดอยู่ที่ 10 Mbps. แม้อินเตอร์เน็ตพื้นฐานที่เราใช้จะมีความเร็วเท่าไรก็ตาม ความเร็วที่ออกไปทาง VPN ก็จะถูกจำกัดอยู่ที่ 10 Mbps. เท่านั้น ด้วยเหตุผลทางด้านทรัพยากร Network มีจำกัดจึงไม่สามารถที่จะปล่อยให้ใช้ความเร็วเต็มที่ได้ แต่ความเร็วเพียงเท่านี้ก็เพียงพอต่อการใช้งานสำหรับเชื่อมต่อระบบต่าง ๆ ในกิจการนักวิทยุสมัครเล่นแล้ว
  3. IP44 นั้นให้ใช้เพื่อกิจการนักวิทยุสมัครเล่นเท่านั้น ถ้าถามว่าสามารถเอาไปต่อกล้องวงจรปิดได้มั้ย ก็ตอบว่าได้แต่เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่งเพราะ IP44 ที่เราได้รับนั้น ได้รับการจัดสรรมาให้ใช้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อทดสอบทดลองในกิจการวิทยุสมัครโดยตรง และยิ่งไปกว่านั้นทางทีม DTDXA ก็ช่วยจัดการทางด้าน Network มาให้เราซึ่งก็มีทรัพยากรอย่างจำกัด เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องช่วยกันใช้งานให้คุ้มค่าและประหยัดมากที่สุด

มาถึงจุดนี้เราก็จะเห็นประโยชน์ของ IP44 กันแล้วนะครับ สำหรับผู้ที่สนใจที่จะใช้งาน IP44 ก็สามารถส่งคำขอเข้าไปได้เลยครับ สำหรับวิธีการใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อผ่าน Software มือถือ, การเชื่อมต่อผ่าน Software บน Laptop หรือ PC หรือแม้กระทั่งการนำ Mikrotik มาเป็น Router ในการจัดการการใช้งาน IP44 นั้น ผมจะพยายามทำมาเป็นบทความให้อ่านทำความเข้าใจกันต่อไป ท่านที่สนใจแต่ก็ยังไม่เข้าใจในบางเรื่องสามารถสอบถามเข้ามาโดยตรงได้ที่ไลน์ของผม HS2BMI Line ID : aisfttx หรือสแกน QR Code ก็ได้ครับ

ผมขอขอบคุณทางทีมงาน DTDXA มาก ๆ นะครับที่ผลักดันจนทำให้นักวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทย ได้มี IP44 ใช้งานกันโดยไม่ยุ่งยากและประสิทธิภาพในการใช้งานก็ดีมากอีกด้วย

QR Code LINE ของ HS2BMI

--

--