การ Forward Port (Private IP)
การ Forward Port กรณีที่อินเตอร็เน็ตเป็น Private IP ผ่านบริการ ddns ของผู้ให้บริการ totddns สามารถนำไปดัดแปลงใช้กับผู้ให้บริการรายอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็น thddns, trueddns, 3bbddns หรือ ddnsbycat
ในบทความนี้จะเป็นตัวอย่างการ Forward Port ให้กับ Application DVSwitch Mobile ซึ่งอินเตอร์เน็ตที่ใช้เป็นแบบ Private IP ผ่านบริการ totddns ของ TOT โดยอุปกรณ์ Internet Router เป็นยี่ห้อ ZTE รุ่น F670 สามารถนำวิธีการไปดัดแปลงใช้กับอุปกรณ์ Internet Router ยี่ห้ออื่นได้
วิธีการตรวจสอบว่า Router ที่บ้านเราได้รับ Private หรือ Public IP
วิธีการตรวจสอบว่าระบบ IP ที่บ้านได้รับเป็น Private IP หรือ Public IP นั้นให้ Login เข้าไปใน Internet Router แล้วไปดูสถานะที่เมนู Network Interface -> WAN Connection แล้วดูที่ข้อมูล IP ถ้าหมายเลขที่ได้รับ ขึ้นต้นด้วย 100.xxx.xxx.xxx ก็แสดงว่าได้รับเป็น Private IP ซึ่ง Private IP นี้จะแชร์หมายเลข Public IP กับ บ้านอื่นด้วย เปรียบเทียบกับบ้านเลขที่คือเราได้รับบ้านเลขที่จริงเลขเดียวกับบ้านอื่น ๆ เพราะฉะนั้นบ้านเลขที่ที่ขึ้นต้นด้วย 100. ของเราจะไม่ใช่บ้านเลขที่จริง ผู้ที่ใช้อินเตอร์เน็ตอื่น ๆ จะส่งข้อมูลตรง ๆ ให้เราไม่ได้ จะต้องผ่านการจัดการของผู้ให้บริการอีกทอดหนึ่ง
แต่ถ้าได้รับเป็นหมายเลขอื่นเช่น 101….., 182….. ก็แสดงว่าเราได้รับ Public IP หรือเป็นบ้านเลขที่จริง ผู้ที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตสามารถสื่อสารกับเราได้โดยตรง
ซึ่งวิธีการตรวจสอบ IP แบบนี้สามารถใช้กับผู้ให้บริการอื่นได้ด้วยไม่ว่าจะเป็น AIS, True หรือ 3BB แต่เมนูของ Internet Router อาจจะแตกต่างกันไป ซึ่งผู้ให้บริการส่วนใหญ่ก็จะใช้ชุด IP ที่ขึ้นต้นด้วย 100… ทั้งสิ้น และสำหรับอินเตอร์เน็ต 3G, 4G นั้น จะได้รับ IP เป็น Private IP ทั้งสิ้น และในปัจจุบันยังไม่มีผู้ให้บริการมือถือรายใดมีบริการ forward port ให้ครับ
สำหรับท่านที่ใช้อินเตอร์เน็ตของ TOT และได้รับ IP เป็น Private IP นั้น ถ้าจะทำการ forward port จะต้องสมัครใช้บริการผ่าน TOT DDNS ซึ่งจะต้องมีการลงทะเบียนเพื่อขอให้บริการก่อน และในขณะลงทะเบียนนั้นจะต้องเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตที่จะใช้งานจริงด้วย จึงจะลงทะเบียนสำเร็จ ให้เข้าไปที่เว็บไซต์ www.totddns.com แล้วคลิ๊กที่ ลงทะเบียน ที่นี่
ถ้าระบบตรวจสอบแล้วอินเตอร์เน็ตที่ท่านใช้สามารถใช้บริการ totddns ได้จะขึ้นข้อความตามภาพด้านล่าง และให้คลิ๊กที่ ต่อไป
หลังจากคลิ๊กต่อไปแล้วจะเข้าสู่หน้าเว็บกรอกรายละเอียดการลงทะเบียน หน้านี้พยายามตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนคลิ๊กลงทะเบียน สำคัญมากคือ e-mail ที่ใช้ลงทะเบียน เพราะหากมีการลืมรหัสผ่านจะต้องใช้ e-mail นี้ในการกู้คืนรหัสผ่าน หลังจากกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้วก็ คลิ๊กที่ลงทะเบียน
หลังจากคลิ๊กลงทะเบียนแล้วจะมีข้อความให้ไปยืนยันการลงทะเบียน ซึ่งจะส่งไปใน e-mail ที่เราระบุไว้ หากไม่มี e-mail ยืนยันใน Inbox ให้ไปตรวจสอบที่ Junk หรือ Spam ด้วยครับ เท่าที่ผมทดสอบลงทะเบียน e-mail ที่ยืนยันไปอยู่ใน Spam ครับ
หลังจากคลิ๊กที่ Confirm Email แล้ว หน้าเว็บจะโอนไปยังหน้า Login ของ totddns เองครับ ก็ให้ทำการ Login ด้วยข้อมูลที่ได้ลงทะเบียนไว้ แล้วคลิ๊กที่ เข้าสู่ระบบ
หน้าต่อไประบบจะให้ระบุชื่อโดเมนที่ต้องการซึ่งจะเป็นเหมือนข้อมูลอ้างอิงที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจะส่งกลับมาหาเราได้ ให้ระบุชื่อโดเมนที่ต้องการ ตัวอย่างผมใช้ hs2bmi ก็จะได้ชื่อโดเมนเป็น hs2bmi.totddns.com หลังจากระบุแล้วให้คลิ๊กที่ ต่อไป
ต่อไปเป็นการกำหนดจำนวนพอร์ตใช้งานซึ่งกำหนดได้สูงสุด 10 พอร์ตเท่านั้น ตัวอย่างผมกำหนดเป็นค่าสูงสุดคือ 10 จากนั้นคลิ๊กที่ ต่อไป
ขั้นตอนสุดท้ายคือยืนยันข้อมูล
หลังจากที่เราได้คลิ๊กยืนยันจำนวนพอร์ตแล้วระบบจะไปยังหน้าข้อมูลโดเมนและหมายเลขพอร์ตของเรา
เราสามารถใส่หมายเหตุหรือชื่ออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อได้ที่ช่อง ชื่ออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ แล้วคลิ๊กบันทึกการแก้ไข
ข้อดีของการใช้บริการ ddns ของผู้ให้บริการก็คือ เป็นบริการของผู้ให้บริการเอง การ update ข้อมูลหลังจากเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตจะเร็ว ไม่ต้องรอเวลาในการ update ข้อมูล IP และก็ยังไม่ต้องไปทำขั้นตอนตั้งค่าให้ dns update ใน Internet Router ด้วย แต่หมายเลขพอร์ตที่ได้รับจะใช้ได้เพียง 10 หมายเลข ซึ่งจะเป็นตัวเลขเรียงกันจำนวน 10 ตัว ซึ่งเราต้องกำหนดการ forward port ให้สัมพันธ์กับตัวเลขชุดนี้ เราจะกำหนดพอร์ตภายนอกเป็นหมายเลขอื่นไม่ได้ จากภาพตัวอย่างเราจะต้องกำหนดเป็นตัวเลขตั้งแต่ 28240–28249 เท่านั้น จึงจะสามารถ forward port แล้วใช้งานได้ หากท่านใช้งาน Application DVSwitch อาจจะใช้วิธีเข้าไปเปลี่ยนหมายเลข USRP Port ให้เป็นหมายเลข 28240 ตามหมายเลขพอร์ตที่ได้รับก็ได้ แล้วค่อยทำการ forward port ในอุปกรณ์ Internet Router
หลังจากที่ได้กำหนดหมายเลขพอร์ตใหม่ให้กับ Application DVSwitch แล้วก็ทำการ forward port ได้ที่เมนู Application -> Port Forwarding
คลิ๊กที่ Enable ให้มีเครื่องหมายถูก
ตั้งชื่อให้กับ forward port นี้
เลือก Protocol ให้ถูกต้อง ส่วนใหญ่จะเป็น TCP แต่ USRP Port ของ DVSwitch จะเป็น UDP
กำหนด WAN Start Port/WAN End Port ก็คือหมายเลข Port ภายนอกที่จะเข้ามา
กำหนด Local Host IP Address ก็คือหมายเลข IP ของอุปกรณ์ DVSwitch Server
กำหนด Local Host Start Port/Local Host End Port คือหมายเลข Port ภายในของอุปกรณ์ที่เราจะให้ forward port จากภายนอกเข้ามา
เสร็จแล้วคลิ๊กที่ Add
หลังจากคลิ๊กที่ Add แล้วเราก็จะได้รายการ Port Forwarding แสดงขึ้นมาตามภาพ
เพียงเท่านี้การ forward port ก็สมบูรณ์แล้ว ทดสอบเชื่อมต่อโดยเปลี่ยนการตั้งค่าใน Application DVSwitch Mobile
สิ่งที่เราจะต้องเปลี่ยนเพื่อมาใช้การ forward port ก็คือ
Hostname คือ ชื่อโดเมนจากบริการ ddns ของผู้ให้บริการ
Port คือ หมายเลข USRP Port
TX Port คือ หมายเลข USRP Port
หลังจากกด Save เพื่อบันทึกค่าแล้วถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด จะมีข้อความเล็ก ๆ ขึ้นที่หน้าจอว่า USRP:REG:OK
และถ้าเรากลับมาหน้าจอหลักของ Application DVSwitch Mobile ก็จะเห็นปุ่ม Hangup (ปุ่มหยุดการเชื่อมต่อ) ที่หน้าจอหลักด้วย
มาถึงตอนนี้การ forward port ผ่านอินเตอร์เน็ตแบบ Private IP โดยใช้บริการ ddns ของผู้ให้บริการก็ถือว่าสมบูรณ์แล้ว เราสามารถใช้งานจากภายนอกเพื่อเชื่อมเข้ามาอุปกรณ์ที่อยู่ภายในได้แล้ว
หากพบข้อบกพร่องในบทความหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รบกวนแจ้งโดยตรงได้ที่ Line Id : aisfttx หรือเข้าร่วม Line Openchat เพื่อคอยติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิทยุสมัครเล่นในโหมดดิจิตอลได้ครับ ขอบคุณทุก ๆ ท่านครับ