ติดตั้ง Image Allstarlink บน PC

Digital Ham Radio
4 min readMar 11, 2023

--

ในปัจจุบันเรามีเครื่อง PC หรือ Mini PC มากมาย ราคาถูกแสนถูก ส่วนมากอยู่ประมาณสองพันขึ้นไปแล้วแต่สเปคเครื่อง ซึ่งจริง ๆ แล้วประสิทธิภาพในการทำงานนั้นเพียงพอสำหรับเอามาทำเป็นโหนด Allstarlink อยู่แล้ว ซึ่งทำงานได้เร็วกว่า Raspberry Pi มาก แต่เหตุผลหลักที่เราเอา Raspberry Pi หรือ Orange Pi มาทำโหนดนั้นก็ด้วยเหตุผลของพื้นที่วาง การประหยัดพลังงานและอีกเหตุผลคือเรื่องของการดูแลเนื่องจากเป็นอุปกรณ์บอร์ดเดียว จึงไม่ค่อยมีปัญหาตามมา

สำหรับเพื่อน ๆ ถ้าจะเอา PC มาทำโหนดแบบจริงจังผมก็แนะนำเป็น Mini PC นะครับ เพราะมีข้อดีหลาย ๆ อย่างใกล้เคียงกับการเอา Raspberry Pi มาทำ ซึ่งด้วยสเปคของเครื่องแล้วสามารถที่จะติดตั้ง Package อื่น ๆ เข้าไปด้วยได้สบาย ๆ เช่น DVSwitch Server หรือ AMBE Server เป็นต้น

เตรียมการติดตั้ง

ในการติดตั้ง Image Allstarlink สำหรับ PC ให้ไปดาวน์โหลดไฟล์ .ISO มาก่อนจาก

http://downloads.allstarlink.org/index.php?b=ASL_Images_Beta%2FIntel-AMD
ภาพหน้าเว็บที่แสดงไฟล์ .ISO ที่เราจะโหลดมาใช้งาน

ผมจะเลือกโหลดตัวล่าสุดมานะครับ หลังจากโหลดเสร็จแล้ว เราก็จะต้องมี Flash Drive หรือ Thumb Drive ความจุขนาด 4GB. ขึ้นไป ซึ่ง Image ของ Allstarlink ตัวนี้ระบุไว้เป็น hybrid ด้วย คือนำไปเขียนลง CD แบบ ISO ก็ได้ หรือจะใช้โปรแกรม Win32DiskImager เขียนลง Flash Drive แบบ IMG ก็ได้ ในตัวอย่างนี้ผมจะใช้การเขียนลงแบบ IMG โดยโปรแกรม Win32DiskImager ให้เปิดโปรแกรมขึ้นมาแล้วระบุค่าตามตัวอย่าง

ให้ใช้ตัวเลือกชนิดไฟล์จากเดิม *.img เป็น * . * เนื่องจากนามสกุลไฟล์นี้เป็น .ISO
ระบุที่อยู่ไฟล์ Device แล้วทำการเขียน Image

หลังจากเขียน Image เสร็จแล้วก็พร้อมที่จะนำไป Boot ที่ PC เพื่อเริ่มติดตั้ง

เริ่มติดตั้ง Image Allstarlink ลงเครื่อง PC

สิ่งที่ยากอย่างหนึ่งสำหรับ PC สำหรับเพื่อนที่ไม่ค่อยถนัดคือการตั้งค่า BIOS เนื่องจากในปัจจุบันระบบการ Boot ของ BIOS จะเป็นแบบ UEFI ซึ่ง Windows จะเป็นตัวจัดการ การ Boot เราต้องแก้ไขให้กลับมาเป็นการ Boot แบบ Legacy เพราะส่วนใหญ่ระบบปฏิบัติการ Linux จะยังไม่รองรับการ Boot แบบ UEFI สิ่งที่ตามมาก็คืออาจจะติดตั้งไม่ได้ หรือติดตั้งได้แต่ Boot ไม่ได้เป็นต้น

ที่ผมว่ายาก คือเครื่องแต่ละเครื่องนั้นไม่เหมือนกัน ผมจึงไม่สามารถแนะนำได้ครบถ้วน สำหรับการตั้งค่า BIOS

ภาพตัวอย่างการตั้งค่าในส่วนของการ Boot ของ BIOS

หลังจากตั้งค่าการ Boot เสร็จแล้วก็นำ Flash Drive ที่เขียน Image ไว้แล้วเสียบเข้ากับเครื่อง PC และทำการ Boot ถ้าไม่ติดปัญหาอะไรก็จะเริ่ม Boot ที่หน้าการติดตั้ง Allstarlink อย่าลืมกำหนดการ Boot หรือกดปุ่มเลือกให้ Boot จาก Flash Drive นะครับ

ตัวอย่างการกำหนดเลือก Boot แบบ LEGACY ด้วย USB Storage Device หรือ Flash Drive

เมื่อระบบ Boot ขึ้นมาจะขึ้นเมนูให้เราเลือก Install AllstarLink

ภาพตัวอย่างหน้าจอเมนูติดตั้ง AllstarLink

เลือกภาษาในการติดตั้งเป็น English

ภาพตัวอย่างหน้าจอเลือกภาษาในการติดตั้ง

เลือก Location หรือพื้นที่ ที่เราอาศัยอยู่ ให้เลือกเป็น other

ภาพตัวอย่างหน้าจอตัวเลือก Location

หลังจากนั้นจะมีตัวเลือกพื้นที่อื่น ๆ ขึ้นมาให้เลือกเป็น Asia

ภาพตัวอย่างหน้าจอเลือก Location เพิ่มเติม

จากนั้นเลือกเป็น Thailand

ภาพตัวอย่างหน้าจอเลือก Location เพิ่มเติม

เลือก locales หรือภาษาที่จะเข้ากับระบบให้เลือกเป็น United States เพื่อความมาตรฐานของระบบ เพราะถ้าเลือกเป็นไทย การแสดงผลอาจจะมีปัญหาได้

ภาพตัวอย่างหน้าจอให้เลือกภาษาของการแสดงผล

ตัวเลือกภาษาของคีย์บอร์ดให้เลือกเป็น American English เพื่อความมาตรฐาน

ภาพตัวอย่างหน้าจอตัวเลือกภาษาของคีย์บอร์ด

จากนั้นระบบจะเริ่มโหลดค่าต่าง ๆ ที่ใช้ในการติดตั้งพร้อมทั้งตรวจสอบ Hardware ของเครื่องที่เราใช้ และจะมาถึงหน้าจอตั้งค่าชื่อเครื่อง ค่าเดิมจะเป็น repeater ผมจะแก้ไขเป็น Dell-Repeater ตัวเลือกนี้สามารถตั้งเป็นอย่างอื่นได้แต่ให้ใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ เมื่อตั้งชื่อแล้วก็กด Enter เพื่อไปต่อ

ตัวอย่างหน้าจอตั้งค่าชื่อเครื่อง

ในส่วนของ Domain name ปล่อยว่างไว้ ให้กด Enter เพื่อไปต่อ

ภาพตัวอย่างหน้าจอตั้งค่า Domain Name

ต่อไปเป็นตัวเลือกในการแบ่ง Partition ให้เลือก Guided — use entire disk คือใช้พื้นที่ทั้งหมดของ Hard Disk ซึ่งข้อมูลเก่าทั้งหมดจะถูกลบไปนะครับ ให้แน่ใจว่าเราไม่มีข้อมูลอะไรที่จะต้องเก็บไว้แล้ว จากนั้นกด Enter เพื่อเลือกครับ

หน้าจอตัวเลือกการแบ่ง Partition ของ Disk

ต่อไปเป็นตัวเลือก Disk ที่เราต้องการติดตั้ง AllstarLink ให้เลือกเป็น Hard Disk ของเรานะครับ ไม่ใช่ Flash Drive ที่เสียบอยู่ แล้วกด Enter เพื่อไปต่อ

ภาพตัวอย่างหน้าจอตัวเลือก Disk ในการติดตั้ง

ต่อไปเป็นการเลือกรูปแบบในการแบ่ง Partition ของ Disk ให้เลือก All files in one partition (recommended for new users) ซึ่งก็เหมาะสำหรับ new user แบบเรา และก็กด Enter เพื่อไปต่อ

ภาพตัวอย่างหน้าจอตัวเลือกรูปแบบในการแบ่ง Partition

ระบบจะสรุปตัวเลือกของ Disk และ Partition ให้เราดูอีกครั้งถ้ามั่นใจแล้วก็กด Enter เพื่อยืนยัน หรือสามารถกดปุ่ม Tab แล้วเลือก <Go Back> เพื่อกลับไปแก้ไขได้

ภาพตัวอย่างหน้าจอสรุปข้อมูล Disk และการแบ่ง Partition

ระบบจะให้ยืนยันอีกครั้งในการที่จะเขียนข้อมูลการแบ่ง Partition ลง Disk ถ้ามั่นใจให้เลือกตัวเลือก <Yes> แล้วกด Enter เพื่อไปต่อ

ภาพตัวอย่างหน้าจอยืนยันการเขียนข้อมูล Partition ลง Disk

ระบบจะทำการแบ่ง Partition และทำการ Format Disk ที่เราเลือกลงระบบ และเริ่มติดตั้งโปรแกรม AllstarLink และก็จะไปหยุดอยู่ที่หน้าจอของการเลือกประเทศต้นทางที่เราจะโหลดโปรแกรมมาให้เลือกเป็น Thailand ตามตัวเลือกเดิมและกด Enter เพื่อดำเนินการต่อ

ภาพตัวอย่างหน้าจอตัวเลือกแหล่งสำหรับโหลดโปรแกรม

ตัวเลือกต่อไปจะเป็นการเลือก server ที่จะโหลดโปรแกรม ซึ่งในบางครั้งถ้าเลือกเป็นจาก debian เองจะโหลดได้สมบูรณ์มากกว่าแจ้งไว้เป็นข้อมูล แต่ในตัวเลือกนี้ผมจะเลือกเป็น server ที่อยู่ในประเทศไทยคือ mirror.kku.ac.th

ภาพตัวอย่างหน้าจอเลือก server ที่จะโหลดโปรแกรม

ตัวเลือกต่อไปเป็นการเลือก proxy ซึ่งในปัจจุบันไม่ค่อยมีการใช้งานแล้วให้ปล่อยว่างไว้แล้วกด Enter เพื่อดำเนินการต่อ

ภาพตัวอย่างหน้าจอตัวเลือก proxy server

ระบบจะเริ่มโหลดโปรแกรมเพิ่มเติมจากแหล่งที่มาที่เราเลือก และก็จะไปหยุดอยู่ที่หน้าจอยืนยันการติดตั้ง boot loader ลง hard disk ให้เราเลือก Yes และกด Enter

ภาพตัวอย่างยืนยันการติดตั้ง boot loader ลง hard disk

ระบบจะให้เลือก Disk ที่จะติดตั้ง boot loader ให้เลือก Disk ที่เราติดตั้งระบบ AllstarLink แล้วกด Enter เพื่อติดตั้ง

ภาพตัวอย่างหน้าจอตัวเลือก hard disk ที่จะติดตั้ง boot loader

หน้าจอสุดท้ายของการติดตั้งจะเป็นการแจ้งว่าการติดตั้งเสร็จสมบูรณ์แล้ว เมื่อเรากด Enter ที่ตัวเลือก <Continue> เครื่อง Mini PC ของเราก็จะเริ่ม boot ใหม่ ให้เอา Flash Drive ออกและกด Enter เพื่อ boot ระบบ

ภาพตัวอย่างหน้าจอแจ้งการติดตั้งเสร็จสมบูรณ์

ถ้าหากเราต่อ Monitor ไว้กับ Mini PC เราก็จะเห็นหน้าจอ Login ของ AllstarLink แต่ถ้าไม่เห็นหรือมี Error อย่างอื่นอาจจะเกี่ยวกับการตั้งค่าการ boot ของเครื่องก็ได้ ซึ่งถ้าขึ้นหน้าจอ Login ก็แสดงว่าการลงของเรานั้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว สามารถทำขั้นตอนต่อไปตามบทความติดตั้ง AllstarLink บน Raspberry Pi ต่อได้แล้วโดยไม่ต้องดูในส่วนของการลง Image ให้ไปเริ่มอ่านจากการตั้งค่าโหนดได้เลย

ภาพตัวอย่างจากบทความติดตั้ง AllstarLink บน Raspberry ในส่วนของการตั้งค่าโหนด

ผมจะทดสอบรีโมทเข้าไปยัง Mini PC ที่เราลง AllstarLink ไว้ โดยระบุ IP ของเครื่อลและใช้ username / password เริ่มต้นเพื่อเข้าระบบ

Username : repeater
Password : allstarlink
ภาพตัวอย่างหน้าจอโปรแกรม putty ที่จะใช้รีโมทเข้าไปยังเครื่อง Mini PC ที่ติดตั้ง AllstarLink ไว้

หลังจาก Login ด้วย username / password แล้วถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็จะมีหน้าจอ โลโก็ของ AllstarLink ขึ้นมา ซึ่งเราก็เริ่มต้นตั้งค่าด้วยคำสั่ง sudo asl-menu ได้เลย

ภาพตัวอย่างหน้าจอหลังจาก Login เข้าระบบ AllstarLink บน Mini PC
ภาพตัวอย่างหน้าจอหลังจากใช้คำสั่ง sudo asl-menu เพื่อเริ่มตั้งค่า

สำหรับท่านที่มีข้อมูลหรือทำตามบทความแล้วติดปัญหาสามารถสอบถามเข้ามาที่ผมโดยตรงได้ HS2BMI ได้เลยผ่านทาง LINE ID : aisfttx และสำหรับท่านที่มีความสนใจวิทยุสื่อสารในระบบดิจิตอลสามารถเข้าร่วม Openchat ของระบบ AllstarLinkได้โดยผ่านทาง QR Code ด้านล่างครับ

QR Code LINE Openchat AllstarLink Thailand

สำหรับเพื่อน ๆ ที่ทำสำเร็จแล้วสามารถเชื่อมเข้ามาสนทนากันที่โหนด 55087 AllstarLink Thailand ได้นะครับ มีเพื่อน ๆ หลายท่าน Stand By อยู่

--

--